อยู่ในช่วงขาขึ้น หลังเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567 โดยเมื่อถามว่าบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 31.35 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความเป็นผู้นำ และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา นิตยสารไทม์ (Time) ประกาศรายชื่อ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต Times 100 Next ที่แบ่งแยกออกเป็น 5 หมวดหมู่ ประกอบด้วย ศิลปิน (Artists) ผู้สร้างปรากฏการณ์ (Phenoms) ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovators) ผู้นำ (Leaders) และผู้ให้การสนับสนุน (Advocates)

โดยในปีนี้ มีชื่อ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ติดอันดับในประเภทผู้นำ (Leaders) ทั้งนี้ ไทม์ ได้เขียนถึง น.ส.แพทองธาร ว่า เธอได้สร้างประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ไม่กี่วันก่อนวันเกิดปีที่ 38 ของเธอ ด้วยการเป็นนายกฯ ของประเทศไทย และเป็นนายกฯ ผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดในเอเชียที่เคยมีมา การขึ้นตำแหน่งของเธอ ไม่เป็นเรื่องน่าตกใจนัก เธอเป็นบุตรสาวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และมหาเศรษฐีแห่งวงการสื่อสารของไทยในปี 2544 และถูกรัฐประหารในอีก 5 ปีต่อมา กระนั้นยังมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ซึ่งเป็นลุง และ อา ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในประเทศไทย แต่ถูกแทรกแซงโดยตุลาการและทหาร

ขณะที่ในระหว่าง “น.ส.แพทองธาร” จะร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย Asia Cooperation Dialogue (ACD )ครั้งที่ 3 และกล่าวถ้อยแถลงบนเวที ACD โดยนายกฯ จะแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ในประเด็นสถานการณ์ความตึงเครียด ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค ประเทศไทย มีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมระหว่างประเทศ ไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด และขอให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมดโดยทันที เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ

พร้อมทั้งระบุถึงบทบาทสำคัญของ ACD ท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน และต้องการการแก้ไข เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในฐานะผู้นำของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่นำพาและสร้างความร่วมมือเพื่อเสถียรภาพและการเติบโตของประเทศ และในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกัน ศตวรรษที่ 21 นี้ได้ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” และเอเชียมีประชาชนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหารของโลก เปรียบเสมือน “แหล่งพลังงาน” และ “ครัวของโลก”

นอกจากนี้ในช่วงท้าย นายกฯ กล่าวขอบคุณรัฐกาตาร์ที่เป็นเจ้าภาพการประชุม และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในการทำหน้าที่อย่างแข็งขันในฐานะประธานการประชุมปีนี้ ซึ่งในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานในปีหน้า ไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระของ ACD เพื่อสร้างเอเชียที่แข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น พร้อมกับเน้นความร่วมมือเพื่อทำให้ศตวรรษนี้เป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” อย่างแท้จริง โดยมี ACD เป็น “เวทีหารือแห่งเอเชีย” (Forum of Asia) ที่พร้อมจะร่วมกันผลักดัน “วาระของเอเชีย” (Asia’s agenda) ต่อไปให้ก้าวหน้า เพื่อการพัฒนาที่สำคัญของประเทศสมาชิกต่อไป

จะเห็นว่า ในการขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ นายกฯ ของไทย หยิบยกสถานการณ์ความตึงเครียด ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด และขอให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมด อีกทั้งยังให้ความเห็นสำคัญของ “ทวีปเอเชีย” ยกให้ศตวรรษที่ 21 เป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” และเอเชียมีประชาชนกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหารของโลก เปรียบเสมือน “แหล่งพลังงาน” และ “ครัวของโลก” คงต้องรอดูเสียงสะท้อนจากนานาชาติ และสาธารณชน หลังจากรับฟังการสื่อสารของนายกฯไทย แล้วจะมีความเห็นอย่างไร

ส่วนความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) หลังที่ประชุมวุฒิสภา มีมติ 164 เสียงต่อ 21 เสียง “พลิกมติ สส.” เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรออกเสียงประชามติ ตามที่ “กมธ.เสียงข้างมาก” ที่มีการแก้ไขมาตรา 13 กลับไปใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ “Double Majority” สำหรับการออกเสียงประชามติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข รธน. คือ “เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยคะแนนเสียงข้างมาก ต้องสูงกว่าคะแนนเสียง งดออกเสียง ในเรื่องที่จัดการออกเสียงประชามตินั้น ๆ”

โดยให้เพิ่มเติมความวรรคสอง กำหนดให้ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ มาตรา 9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ด้าน “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการนัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลพูดคุย เรื่องการแก้ รธน. ว่า คาดว่าน่าจะเป็นสัปดาห์หน้า หลังจากจะสรุปรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ตั้งแต่เรื่องการทำประชามติ ซึ่งโยงกับ รธน. ก็จะคุยไปพร้อมๆ กันว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร ตนก็จะเตรียมให้ และเอาทางออกเหล่านี้ไปหารือร่วมกัน

แต่ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กลับระบุว่า ยังไม่มีการนัดหมายกับแกนนำรัฐบาลเพื่อพูดคุยในการแก้ รธน. ขณะนี้นายกฯ ก็เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ จึงยังไม่มีกำหนดการว่าจะนัดพูดคุยกันเมื่อใด เพราะเรามีเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขให้ประชาชน ซึ่งสำคัญกว่าการแก้ไข รธน. อย่าง จ.เชียงใหม่ ที่ในตอนนี้มีฝนตกหนัก มีสถานการณ์น้ำหลากเข้ามาอีกจึงต้องเร่งไปแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนก่อน

คำถามคือการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล ทำไมไม่เร่งแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องอุทกภัย ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ยังเผชิญปัญหาหนักหน่วง รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่กลับมาแก้ไขในประเด็นที่เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งอาจทำให้กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. ใช้มาเป็นประเด็นโจมตีฝ่ายบริหารได้ว่า มุ่งแก้ไขปัญหาให้กับตนเอง

ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชน ในนามกลุ่มประชาชนร่าง รธน. (Con for All) เข้ายื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาเร่งดำเนินการจัดทำ รธน.ฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยมีนายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะวิปพรรคฝ่ายค้านร่วมรับหนังสือ

โดยเครือข่ายประชาชนร่าง รธน. กล่าวว่า ควรจะเริ่มกระบวนการจัดทำ รธน.ใหม่ ได้โดยการเปิดสภา เพื่อบรรจุวาระร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อพิจารณาจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วเดินหน้าต่อไป ซึ่งสามารถทำได้เลยตั้งแต่วันนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ.ประชามติก่อน เพราะนี่จะเป็นหนทางเดียวที่มีอยู่ ที่จะทำให้มีโอกาสได้ รธน.ฉบับใหม่ภายในรัฐสภา และรัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้ คาดหวังว่า การแก้ รธน.รายมาตรา จะต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนด้านต่างๆ ด้วย

ด้าน “นายมุข” กล่าวว่า ประธานสภา เห็นด้วย และยินดีให้ความร่วมมือ 1000% จะรีบบรรจุกฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุด เพราะรัฐสภาก็อยากให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนว่า หากอยากให้การแก้ไข รธน.ฉบับใหม่ เป็นอย่างที่ทุกคนมีความประสงค์ ก็ต้องช่วยกันผลักดันทำให้สภาสูงและสภาล่าง มีความเห็นเหมือนที่ประชาชนต้องการ เนื่องจากขณะนี้ยังมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ขณะที่นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ขอบคุณประชาชนที่มาในวันนี้ เหมือนเป็นการให้กำลังใจพวกเราในการผลักดันการแก้ไข รธน. ที่หลายพรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ ทั้งการแก้ทั้งฉบับ และการแก้ไขรายมาตรา ถือเป็นกฎหมายแรกที่ทางรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันตั้งแต่ต้น ยอมรับว่าขณะนี้มีอุปสรรค ทุกอย่างไม่ได้รวดเร็วเป็นไปตามที่เราหวังไว้ แต่ทางวุฒิสภาก็จะส่งร่างกลับมา เพื่อตั้ง กมธ. ร่วมกันว่า สุดท้ายแล้วจะเอาอย่างไรกันแน่

นายพริษฐ์ กล่าวว่า จุดยืนของพรรค ปชน.ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน เรายืนยันมาตลอดว่า รธน.ปี 2560 มีปัญหา และเห็นด้วยว่า ต้องมีการเดินคู่ขนานกัน โดยหนทางที่หนึ่งซึ่งเราเห็นว่าดีที่สุด ในการที่จะทำให้มี รธน.ฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 คือต้องลดขั้นตอนทำประชามติ จาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง แต่ก็อยู่ที่การตัดสินใจของประธานสภา ว่าจะบรรจุวาระหรือไม่ ทั้งนี้ พรรค ปชน.ได้ยื่นร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา 7 แพ็กเกจแล้ว

บางทีในท้ายที่สุด “พรรค พท.” อาจจับมือ “พรรค ปชน.” เดินหน้าแก้ไข รธน. ไม่ว่าจะเป็นทั้งฉบับและรายมาตรา เพราะเชื่อว่า มีมวลชนบางส่วนเป็นแรงหนุน แต่ก็อาจเสี่ยงการถูกยื่นคำร้องของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หากพบว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ตนเอง ดังนั้นต้องรอดู “พรรค พท.” จะหาทางออกอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกโดดเดี่ยวจากพรรคร่วมรัฐบาล.