เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 67 ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 1 หรือพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี ตามคำร้องขอให้พิจารณาออกหมายจับจำเลยที่ 1 ของทนายความโจทก์ โดยศาลพิเคราะห์แล้ว วันที่ 12 ก.ย. 67 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มาศาล แม้ในวันนัดจะมีการประชุมสภา แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย การพิจารณาคดีของศาลในวันดังกล่าว จึงไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่จำเลยที่ 1 จะไปประชุมสภา เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีภายในอายุความ 20 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คือ ภายในวันที่ 25 ต.ค. 67 ศาลสั่งด้วยว่าการดำเนินการตามหมายจับ ให้ตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับได้ และเห็นสมควรให้พนักงานฝ่ายปกครอง และตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วย โดยมีตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุน ตาม พ.ร.บ.เจ้าพนักตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 5 (5)

อนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของศาลยุติธรรมและความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในชั้นพิจารณาเห็นสมควรให้งานสารบรรณมีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งข้อเท็จจริงตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือตอบกลับมาว่า ระหว่างสมัยประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาไม่มีความคุ้มกันในชั้นพิจารณา รวมถึงกรณีการจับกุมและกุมขังในคดีอาญาด้วย

ทั้งนี้ หมายจับจำเลยทั้ง 7 อยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลจังหวัดพระโขนง ศาลจังหวัดสงขลา ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลจังหวัดสมุทรสงคราม และศาลจังหวัดตลิ่งชัน

การฟ้องร้องคดีอาญาเหตุการณ์ตากใบเกิดจากความพยายามของกลุ่มผู้เสียหาย ครอบครัวผู้เสียชีวิต กลุ่มทนายความ และชาวบ้านในท้องที่ ที่ยังคงรอคอยความยุติธรรมมาตลอด 20 ปี มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมติดตามนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานกับติดตามผลการจับกุม ในวันที่ 15 ต.ค. 67 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดนราธิวาส ต่อไปอย่างใกล้ชิด และร่วมจับตาว่าจำเลยทั้ง 7 คนจะมาศาลหรือไม่ ภายในกำหนดอายุความ 25 ต.ค. 67 เพื่อให้มั่นใจว่าสังคมจะได้ร่วมกันค้นหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อให้ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรมและได้รับการเยียวยาอย่างครอบคลุมและเหมาะสม และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงเช่นนี้กับใครได้อีก

สำหรับคดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ.