วันที่ 3 ต.ค. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดทำโครงการ Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ โดยเป็นบริการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสำคัญ เพื่อให้ข้อมูลของตนเองเป็นประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจำเป็นต้องยกระดับเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญดิจิทัลรายมิติ ดึงดูดการลงทุนมาไทย

ทั้งนี้ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในเรื่องการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมพัฒนาคน การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้ง่าย และให้สถาบันการเงิน บริษัทประกัน ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับลูกค้ามากขึ้น ส่วนภาครัฐ ก็จะเห็นข้อมูลให้เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างตรงจุด เพื่อทำนโยบายให้เหมาะสม ไปถึงการนำข้อมูลตนเองไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและธปท.อยู่ระหว่างจัดตั้งกฎหมายสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือนากก้า เพื่อให้กลไกค้ำประกันของรัฐ เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ และให้สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงให้การค้ำประกันดีขึ้น และกรมสรรพากรร่วมสถาบันการเงิน ให้ประชาชนคัดแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ข้อมูลการยื่นภาษีดิจิทัล ประกอบขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ โดยเริ่มทดลองแล้ว คาดจะเริ่มใช้จริงภายในปี 68 และภาคการเงินในครึ่งหลังปี 69

“ไทยยังมีช่องว่างทางการเงิน ทั้งเรื่องการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของทั้งเอสเอ็มอีรายเล็ก ดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินความเสี่ยงที่แท้จริง การออมเงินไม่เพียงพอหลังเกษียณอายุ ซึ่งการให้ข้อมูลไหลเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดช่องว่างทางการเงิน ถ้าข้อมูลมากพอจะช่วยประเมินความเสี่ยงลูกค้า จะสามารถปล่อยกู้ประชาชนและเอสเอ็มอีมากขึ้น คิดดอกเบี้ยสอดคล้องความเสี่ยงแต่ละรายมากขึ้น”

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ข้อมูลของเราที่อยู่กับที่ต่างๆ หากเรายินยอมเปิดเผยข้อมูล จะทำให้ผู้ให้บริการเข้าถึงข้อมูลของเรา และจะทำให้มีการนำเสนอเงื่อนไขให้วงเงินกู้มากขึ้น รวมถึงทำให้ประชาชนมีการวางแผนทางการเงิน จากข้อมูลที่กระจายอยู่หลายที่ ทั้งหลักทรัพย์ ประกัน หลายสถาบัน เป็นการรวมข้อมูลจัดการออมเงินการลงทุน

ขณะที่ในไทยเวลานี้มีปัญหาอยู่หลากหลายที่ แต่สิ่งจำเป็นคือ กลไกเอื้อรับส่งข้อมูลได้สะดวกขึ้น กลไกมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ การเก็บข้อมูลดิจิทัล, มาตรฐานกลางเรื่องดาต้า เอพีไอ มาตรฐานความปลอดภัย และเรื่องกติกาความปลอดภัยให้ประชาชนมั่นใจความปลอดภัยข้อมูล ป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล โดยต้องมีมาตรฐานต่างๆ ซึ่งข้อมูลได้อยู่กับหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนมีสิทธิที่จะใช้ข้อมูลนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ตามความต้องการ ตามความยินยอมของตนเอง

“ธปท.เห็นความสำคัญของการใช้ดาต้า เป็นหนึ่งในองค์ประกอบนโยบายภูมิทัศน์การเงิน เกิดโอเพ่นดาต้า แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดต้นทุนเครดิต เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยและเอสเอ็มอี โดยมองไปข้างหน้าจะช่วยให้มีของใหม่ๆ เช่น การค้ำประกันนากก้า เวอร์ชวลแบงก์ ซึ่งการใช้ข้อมูลจะทำได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น โดย ธปท.อยากเห็นประชาชนใช้สิทธิ การส่งข้อมูลไปที่เราต้องการ เพื่อรับบริการตามที่ตอบโจทย์มากขึ้น และอยากเห็นการส่งข้อมูลเกิดขึ้นในรูปแบบดิจิทัล มีความปลอดภัย ป้องกันรั่วไหล และดูแลผู้บริโภค รวมถึงค่าธรรมเนียมต้องไม่แพงเกินไป และต้องใช้งานได้จริง”