พร้อมข้อกำหนดให้ดำเนินการไปในรูปแบบ Indivisible Package คือจะแบ่งแยกไม่ได้ ต้องทำคู่กันไป ซึ่งข้อกำหนดส่วนนี้เองที่น่าจะเป็นเงื่อนไขให้การเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา ภายใต้ MOU 2544 ยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าจะผ่านระยะเวลามากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12-13 ก.ย. โดยนโยบายเร่งด่วนเรื่องที่ 3 ระบุถึง “มาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค” มีเรื่อง “การเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน” เป็น 1 ในเรื่องพลังงานที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ ซึ่งหากย้อนมองกลับไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา อยู่ในนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น และยังปรากฏอยู่ในนโยบายของ “รัฐบาลเศรษฐา” ด้วยเช่นกัน ก่อนหน้านั้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีความพยายามในการเดินหน้าเจรจาเรื่องนี้เช่นกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ” คือหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเจรจาความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งในรัฐบาลปัจจุบันมีสัญญาณบวกจากผู้นำรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อหารือกับ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น และมีการแถลงข่าวร่วมกันว่า

“ได้มีการหารือและตกลงกันว่าจะกระชับความร่วมมือทางความมั่นคงด้านพลังงาน ในการนี้เราได้ตกลงที่จะหารือกันต่อไปเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนของสองประเทศ ในเวลาเดียวกัน เราให้ความสำคัญกับการปักปันเขตแดนทางทะเลและตกลงที่จะหารือในประเด็นนี้ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรไฮโดรคาร์บอน”

ขณะที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีสายสัมพันธ์อันดีอย่างยาวนานกับ สมเด็จฮุนเซ็น อดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้แสดงวิสัยทัศน์ “Vision for Thailand 2024” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ตอกยํ้าโอกาสความเป็นไปได้ในการเจรจาเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ให้ได้ข้อยุติร่วมกัน ซึ่งอดีตนายกฯ ทักษิณ นำเสนอมุมมองไว้น่าสนใจว่า ควรต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว ก่อนที่ขุมทรัพย์พลังงานจากฟอสซิลที่ไทยและกัมพูชามีอยู่ร่วมกันจะถูกทิ้งไปให้เสียเปล่า ในอีกไม่เกิน 20 ปี ข้างหน้า ไม่ใช่เป็นเรื่องของการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนว่าฝ่ายใดควรจะได้แบ่งพื้นที่คนละเท่าไหร่
แต่เป็นเรื่องของการแบ่งทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่ระหว่างกัน ควรจะต้องแบ่งฝั่งละ 50% ในขณะที่ยังมองไปด้วยว่าประชาชนคนไทยควรจะได้การแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย

ในเรื่องของผลประโยชน์ที่ประเทศไทย และกัมพูชาจะได้รับจากความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชานั้น นอกจากประโยชน์ทางตรงคือเรื่องความมั่นคงทางพลังงานแล้ว ในการแถลงนโยบายของ “นายกฯแพทองธาร” ต่อรัฐสภา นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา ได้แสดงความเห็นว่า ผลประโยชน์ที่เราจะได้จากการเจรจาเป็นพื้นที่ทับซ้อน 16,000 ตารางกิโลเมตร นั้นมหาศาลมากเพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติและนํ้ามันมีมหาศาล ประเมินกันว่า หากเราสามารถใช้พื้นที่ตรงนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งเรื่องของการลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ตํ่ากว่าปีละหนึ่งล้านล้านบาท และมีเรื่องของค่าภาคหลวง เรื่องของธุรกิจต่อเนื่อง ปิโตรเคมี เรื่องของภาษีเข้ารัฐ ซึ่งถือว่ามหาศาลมาก พร้อมเตือนให้ระมัดระวังแนวคิดของบางกลุ่ม ที่อาจใช้ถ้อยคำที่หมิ่นเหม่ต่อความรู้สึก และอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การพูดเอาแต่สนุกปากอาจสร้างความลำบากในการเจรจา

เรื่องการนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มาใช้ลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หากสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมาก เพราะราคาถูกกว่า LNG นำเข้า ช่วยให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยถูกลงในระยะยาว เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย

ได้แต่คาดหวังว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะแสดงความจริงจังตั้งใจในการเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา เพื่อแสวงหาข้อสรุปแบบ Win Win ที่จะนำสู่การเปลี่ยน “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา” เป็น “พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา” เร่งนำปิโตรเลียมในพื้นที่ขึ้นมาใช้ เพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวของทั้ง 2 ประเทศ ได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในรัฐบาลชุดนี้.