เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับและพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคล เรียกขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประสบอุบัติเหตุจากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระสังฆาราม จ.อุทัยธานี พร้อมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.

โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมศพครูและนักเรียนที่เสียชีวิต จำนวน 23 ราย ที่ โรงเรียนวัดเขาพระสังฆาราม จ.อุทัยธานี โดยตนจะเดินทางไปร่วมสวดอภิธรรมด้วย ส่วนการจัดทำบุญจากส่วนกลางและเขตพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่นักเรียนที่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จำนวน 2 ราย และอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ส่วนมาตรการเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวนักเรียนและครูที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ได้มอบหมายให้ สพฐ. ดำเนินการเป็นเจ้าภาพรับบริจาค เพื่อร่วมสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งจะแยกเป็นสองส่วน คือ เงินค่าจัดการศพ และทุนที่จะให้ทายาทหรือบุพการี ในการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป โดยในวันนี้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กทม.เขต 2 มอบเงินช่วยเพื่อสมทบทุนดังกล่าว จำนวน 120,000 บาท  

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  สำหรับมาตรการงดกิจกรรมทัศนศึกษาของโรงเรียนนั้น ได้ทำหนังสือสั่งการไปแล้วขอให้งดกิจกรรมทัศนศึกษา และหากมีความจำเป็นจะต้องไปให้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยห้ามไม่ให้เด็กต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไปทัศนศึกษา รวมถึงตนได้ทำหนังสือไปถึงกรมขนส่งทางบกด้วยว่า หากมีกรณีสถานศึกษาแจ้งขอให้รถในการไปทัศนศึกษาหรือกิจกรรมอื่นๆ ขอให้กรมการขนส่งทางบกอำนวยความสะดวกในการเข้าตรวจสภาพรถให้มีความพร้อมก่อนการเดินทาง หรือจะต้องมีหนังสือรับรองจากกรมการขนส่งทางบก มายืนยันว่ารถที่ใช้เดินทางของโรงเรียนมีความพร้อม อีกทั้งก่อนเดินทาง ให้ผู้ประกอบการได้อธิบายขั้นตอนและวิธีการหากเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างเดินทางในการเอาตัวรอดจะทำอย่างไร เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นมาอีก ทั้งนี้ ตนได้ฝากเขตพื้นที่ทุกเขต ขอให้ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนในสังกัด ต้องอยู่บนความไม่ประมาทด้วย

“จากนี้ไปจะมีการวางแผนบูรณการหลักสูตรการเรียนการสอนในการเติมทักษะชีวิต หรือจัดทำแผนเผชิญเหตุไว้กลุ่มวิชาลูกเสือ หรือวิชาพลศึกษา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เด็กนักเรียนจะได้มีทักษะการเอาตัวรอดที่ถูกวิธี ซึ่งขณะนี้ผมกำลังคิดว่า จะให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่เป็นการศึกษานอกระบบ นำรูปแบบหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสากล มาใช้สอดแทรกในการเรียนการสอน” รมว.ศธ. กล่าว