เมื่อวันที่ 2 ต.ค.  ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เข้าร่วมประชุม


โดยในระเบียบวาระที่ 7.5 ญัตติด้วยวาจาของนายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก.เขตห้วยขวาง เรื่องขอให้ กทม.เร่งรัดจัดหารถเก็บขนมูลฝอยทดแทน ในส่วนที่จะครบกำหนดสัญญาในปี 2567


นายประพฤทธ์  กล่าวว่า กทม.กำลังเจอกับปัญหาเรื่องขยะตกค้าง เฉพาะในพื้นที่เขตห้วยขวาง มีปริมาณขยะวันละ 300 กว่าตัน  ซึ่งเป็นปริมาณที่เยอะมาก และการจ้างรถเก็บขนมูลฝอยในปีงบประมาณ 2567 จาก 7 โครงการ จะหมดสัญญาจำนวน 4 โครงการ ซึ่งจะทำให้กทม.ขาดรถเก็บขนมูลฝอยเป็นจำนวนมาก 

โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน ขาดรถขนขยะจำนวน 102 คัน และจะขาดเพิ่มเติมในวันที่ 22 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 842 คัน อันที่จริงแล้วเป็นโครงการที่มีมานานแล้ว แต่เหตุใดทำไมไม่มีความต่อเนื่องของการจัดการรถขนขยะเพื่อสนับสนุนการขนย้ายขยะมูลฝอย


นายประพฤทธ์ กล่าวต่อไปว่า รถขนขยะไฟฟ้าจะมาทดแทนจำนวน 470 คัน ในปีงบประมาณ 2568 ได้หรือไม่ ขอสอบถามเรื่องความคืบหน้าของโครงการนี้ และมีความกังวลเรื่องผลกระทบในมิติต่าง ๆ ได้มีการศึกษาดีพอหรือยังในเรื่องความเหมาะสมในเชิงพื้นที่ และความคุ้มค่าในด้านทรัพยากร


ขณะที่ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าวเสริมประเด็นเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาบมาเป็นรถไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ยาก  อันที่จริงรถสันดาบอาจจะประหยัดในเชิงค่าใช้จ่ายของราคาตัวรถ แต่เมื่อนำค่าใช้จ่ายมารวมกันและคำนวณต้นทุน ทั้งในเรื่องของราคารถ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า พลังงานต่าง ๆ  จะรู้ว่าแบบไหนประหยัดและคุ้มค่ากว่าในระยะยาว 

เช่น เขตสายไหมที่มีปัญหาขยะล้นเมือง จัดเก็บไม่ทัน เมื่อนำรถเก็บขนมูลฝอยไฟฟ้ามาใช้จะมีความคุ้มค่าหรือไม่ อยากให้ฝ่ายบริหารคำนึงถึงความเป็นธรรมกับภาษีของประชาชนให้มากที่สุด


ด้าน น.ส.นฤนันมนต์  ห่วงทรัพย์  ส.ก. เขตคลองสามวา ตั้งข้อสังเกตุเรื่องการขาดแคลนรถขยะในเขตของตน โดยก่อนหน้านี้เขตคลองสามวามีปัญหาเรื่องขาดแคลนบุคลากรในการเก็บขนมูลฝอยที่ไม่เพียงพอ ซึ่งสำนักงานเขตได้แก้ปัญหาด้วยการจัดพนักงานกวาดฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานผู้หญิง  มาช่วยเก็บขนขยะในพื้นที่ และตอนนี้ยังประสบปัญหาขาดแคลนรถขนขยะขนาด 3 ลบ.ม.อีก และคาดว่าเขตจะขาดรถขนขยะได้ไม่เกินสองเดือนเท่านั้น โดยตั้งคำถามต่อฝ่ายบริหารถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ให้กับชาวคลองสามวาอย่างไร และ 270 วันต่อจากนี้ จะจัดการปัญหาขยะกันอย่างไร


ส่วน น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาพื้นที่เขตสายไหมก็มีปัญหาเรื่องขยะเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณฝ่ายบริหารที่ให้ความสำคัญในการปัญหาขาดแคลนรถขยะ และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้ความช่วยเหลือเร่งแก้ไขจนปัญหาขยะในพื้นที่คลี่คลายลง และในระยะเวลาปีกว่าที่เหลือของการดำรงตำแหน่ง ส.ก.ทุกคนพร้อมที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้นได้

ต่อมา นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ลุกขึ้นตอบข้อสงสัยที่ ส.ก.ได้อภิปราย ว่า ตนฟังแล้วก็ไม่สบายใจ เพราะสิ่งที่ตนทำมาเกือบ 2 ปี มันควรจะได้อะไรมากกว่านี้ จึงขอร่ายยาวจากอดีตถึงปัจจุบัน การเช่ารถขยะของ กทม. ชุดแรกตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2563 บริษัท A ประมูลชนะ ได้ไป 22 สัญญา วงเงิน 18,834,080,625 บาท อีกบริษัทหนึ่งเรียกว่าคู่เทียบหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่ได้ไป 4 สัญญา วงเงิน 1,738,432,050 บาท อีกบริษัทหนึ่งคู่เทียบหรือไม่ ไม่ทราบได้ไปอีก 2 สัญญา วงเงิน 1,402,464,428 บาท ตั้งแต่ปี 2545-2563 รวม 28 สัญญา เป็นเงิน 21,974,978,103 บาท 

“ช่วงนั้นผมเป็นข้าราชการ กทม.อยู่ ผมรู้น้อยมาก แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อผมมาเป็นรองผู้ว่าฯ รู้เยอะนะแล้วเมื่อมาเป็นรองผู้ว่าฯ ที่ดูสำนักสิ่งแวดล้อม ให้ทำไง นั่งอยู่เฉยๆใช่ไหม  ผมบอกแล้วว่าเรื่องการทำงานของผม ถ้าผมต้องทุจริต ผมเน้นนะครับ ผมไปลาออกดีกว่า 
เพราะฉะนั้นปัญหาของรถขยะมันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ตอนนั้นฝ่ายบริหาร ส.ก. เพิ่งเข้ามาใหม่ งบประมาณที่ตั้ง ตั้งจากผู้บริหารชุดเก่า โครงการเขียนไว้ว่า เป็นการเช่าไม่ได้ระบุเชื้อเพลิง ไม่ได้ระบุพลังงาน กทม.ทำมาตั้งแต่ปี 2545 พอผู้บริหารชุดนี้ ผมรับคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องว่าคนอื่น” นายจักกพันธุ์กล่าวด้วนความอัดอั้น


นายจักกพันธุ์ ยังกล่าวต่อไปว่า ถ้า กทม.จะเริ่มใช่รถพลังงานไฟฟ้า (รถขยะอีวี) คิดว่าควรทำหรือไม่ ณ ตอนนั้น ตนไม่มีความรู้ ตนจบศึกษาศาสตรบัณฑิต ไม่ได้จบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ตนต้องหาข้อมูล พยายามไปสืบราคาปรากฏว่า รถขยะอีวีราคาเช่าถูกกว่า ขณะที่รถดีเซลใช้มาแล้ว 7 ปี ราคาเท่าเดิม ถ้าตนเป็นคนเซ็นจะเลือกของถูกหรือของแพง


ขณะเดียวกันถ้าเช่ารถอีวีในช่วง 270 วัน หรือ 9 เดือน ใช้เงินน้อยกว่าเช่ารถดีเซล 127,289,084 บาท ความเห็นของนักวิชาการก็ระบุว่สรถอีวีดีกว่า ณ วันนี้ตนก็ไม่มีความรู้นอกจากอ่านข้อมูลของนักวิชาการ ในกรณีที่ไม่รู้ เราก็ควรหาในสิ่งที่มีข้อมูลที่แสดงให้คนทั่วไปทราบ ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ ตามที่สำนักสิ่งแวดล้อมไปศึกษามาก็ดีกว่ารถดีเซล


ส่วนรถขยะที่จะหมดสัญญาเช่า รู้มาตั้งแต่ปี 2566 ตนก็หารือว่าถ้าจะใช้รถอีวี กทม.สามารถทำได้เลย เพราะในโครงการไม่ได้ระบุว่าต้องใช้เชื้อเพลิงประเภทไหน แต่ปรากฏว่ามีคนไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ว่า ถ้าฝ่ายบริหารจะเปลี่ยนไปใช้รถอีวี ต้องให้ สภา กทม.เห็นชอบก่อน 
ผลที่เกิดขึ้นคือ ตนต้องยกเลิกโครงการที่ตั้งงบไว้ในปี 2566 และ 2567 แล้วมาตั้งใหม่ในงบปี 2568 เท่ากับเสียเวลาไปอย่างน้อย 2 ปี ทั้งที่ความจริงแล้วโครงการที่เขียนมา ถ้าโครงการไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ กทม.ทำได้ แต่สุดท้ายต้องนำเสนอเข้าสภา กทม.ใหม่ สภาฯก็ให้เป็นรถไฟฟ้า


“ถามว่าใครผิด ผมผิดก็ได้ แต่ในกรณีถ้าผมผิดเรื่องนี้ ตั้งแต่ผมทำงานเป็นรองปลัด กทม.ผมผิดหมดเลย เพราะตามข้อบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2563 ถ้าเรื่องที่ไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์ ฝ่ายบริหารสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่กรณีกระทบวัตถุประสงค์ต้องเสนอให้สภา กทม.อนุมัติ” นายจักกพันธุ์กล่าว


นายจักกพันธุ์ กล่าวเพิ่มว่า คณะอนุกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณ ไปแก้ชื่อโครงการของตน พอแก้ชื่อแล้วทำให้ตนไม่สามารถทำโครงการได้ ถามว่าใช้อำนาจอะไรถึงไปแก้ชื่อโครงการ รวมถึงมีการแก้ไขการกำจัดขยะจากเดิมทำให้ถูกสุขลักษณะ เปลี่ยนเป็นให้ฝังกลบ
อีกตัวอย่าง เมื่อปีงบ 67 ทำโครงการเช่ารถดูดกวาดถนน จำนวนรถไม่ต้องเท่ากันในแต่ละโซน ปรากฏว่ามีอนุกรรมการท่านหนึ่งไปแก้ให้จำนวนรถเท่ากันทุกโซน ในเมื่อรถวิ่งไม่เท่ากันอยู่แล้ว แก้เพื่อให้ใช้งบประมาณมากขึ้น ให้ประชาชนเสียภาษีมากขึ้น สุดท้ายโครงการใช้ไม่ได้ ต้องขอยกเลิกแล้วนำเสนอโครงการเข้าไปใหม่ ล่าสุดปีงบ 68 สภา กทม.ไม่อนุมัติ นี่คือตัวอย่างหนึ่งในหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้น


“ผมเตรียมแผนเรื่องรถขยะไว้หมดแล้ว แต่ในวันที่ 30 ก.ย.ที่ไม่ได้รถขยะใหม่ เพราะไม่ควรจะพูด ณ ที่นี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ทราบว่าเอกสารที่ส่งมาไม่ตรงกับ TOR ไม่ใช่อำนาจผม ผมเซ็นได้มูลค่า 200 ล้านบาทขึ้นไป แต่เมื่อทราบแล้วผิดมันก็ต้องผิด ก็ไม่สามารถที่จะเซ็นสัญญาได้ แต่ถามว่าเบื้องหลังจริงๆคือใคร แล้วจะฝันบอกว่าคือใคร” นายจักกพันธุ์กล่าว


นายจักกพันธุ์  กล่าวต่อไปว่า แผนการทดแทนรถ ตนเตรียมไว้แล้ว 5 เดือน เพราะตนคาดว่าวันนี้อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ คิดว่าควรจะเกิดขึ้นจริง เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา มีอะไรหลายอย่างที่แสดงว่า มีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปใช้รถอีวีแทน   แล้วก็คิดจ้างเหมาให้เอกชนมาเก็บขยะทั้งหมดเลยดีหรือไม่ แค่คิดแต่ไม่ได้ทำ


“เราวางแผนแม้กระทั่ง ประมูลในปี 67 ปี68 ไม่ได้ อันนี้ไม่ได้เพิ่งคิด คิดมานานแล้ว พอดีเป็นคนคิดมาก แต่ผลที่ได้ทำมันน้อยมากเลย โทรศัพท์มากดดันกัน นอนอยู่ดีๆโทรเข้ามาในบ้าน ‘อย่าทำนะ ถ้าทำเดี๋ยวกู ล่อมึงฉิบหาย’ ขอโทษที่พูดไม่เพราะ ขออนุญาตท่านประธานถอนนะครับ ‘ถ้าเซ็นระวังติดคุก’” นายจักกพันธุ์กล่าว

นายจักกพันธุ์ ยังยืนยันถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะมีความตั้งใจจริงในการปรับปรุงรถขนขยะให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และแสดงจุดยืนถึงความตั้งใจอันดีและความโปร่งใสของการทำงาน

“สรุปจากที่ท่านถามว่าต่อไปทำอย่างไร ถ้าผมยังอยู่ ก็ต้องพยายามนำรถขยะมาวิ่งให้ได้ และผมก็ตอบไปทุกครั้งว่าถ้าผมทำไม่ได้ให้คนที่เก่งกว่าผมมาทำ ผมพร้อมนะ ถ้าเกิดในกรณีเราทำงานแล้ว ไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จ หรือไม่สำเร็จตามที่ท่านผู้ว่าฯ กทม.มอบหมาย หรือได้รับหน้าที่ต้องทำ เราก็ไม่ควรอยู่ที่จะทำ แต่ให้คนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่ามาทำแทนเรา อย่าดื้ออยู่ กลับไปนอนอยู่บ้านก็ได้ ขอบคุณมากครับ” นายจักกพันธุ์ กล่าวปิดท้าย.