เมื่อวันที่ 2 ต.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงการณ์ กสม. แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวและญาติมิตรของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิต สูญหาย และได้รับบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้รถบัสโดยสารนักเรียน บนถนนวิภาวดีรังสิต ขณะพานักเรียนจากจังหวัดอุทัยธานีไปทัศนศึกษา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 เป็นเหตุให้เด็กนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตจำนวนมาก โดยบางส่วนยังไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ สร้างความสะเทือนใจและเศร้าสลดใจให้แก่ผู้ที่ได้ทราบข่าวและสังคมโดยรวม
กสม. ระบุว่า สิทธิและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของคนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ที่จะต้องมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด และสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกรูปแบบเพื่อให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามได้รับรองไว้
เหตุสลดดังกล่าว แม้ไม่มีผู้ใดต้องการให้เกิดขึ้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมในการปกป้องและคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งยังมิอาจปกป้องตนเองจากภัยอันตรายได้ นอกจากนี้ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ ยังมีการเผยแพร่และส่งต่อภาพเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสม และมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครองอย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจซ้ำเติมความโศกเศร้าเสียใจของครอบครัวผู้สูญเสีย โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
กสม. ขอเน้นย้ำว่าเด็ก ผู้ปกครองและญาติ มีสิทธิที่จะได้รับการเคารพในความเป็นส่วนตัว และไม่ควรถูกนำข้อมูลไปใช้ในการแสวงหาประโยชน์ โดยขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนคำนึงถึงมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมในการนำเสนอข่าว รวมถึงแนวทางการนำเสนอข่าวในสถานการณ์เศร้าโศกหรือโศกนาฏกรรม ที่มุ่งนำเสนอสาเหตุและการป้องกันแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการสื่อสารที่เป็นการตอกย้ำความโศกเศร้า และขอให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ระมัดระวังในการส่งต่อและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนภาพเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ หรือไม่เหมาะสมโดยมิได้คำนึงถึงสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย
ท้ายที่สุด กสม. ขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสียและเด็ก ๆ ผู้รอดชีวิตที่ต้องเผชิญกับเหตุอันเลวร้ายและเสี่ยงต่อชีวิต โดยขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเร่งสอบสวนหาสาเหตุที่แน่ชัดของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และเร่งเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม เป็นธรรม และทั่วถึง ซึ่งการเยียวยานั้นต้องรวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้รอดชีวิตและครอบครัวผู้สูญเสีย รวมทั้งหามาตรการป้องกันภัยเพื่อมิให้เกิดเหตุสลดเช่นนี้อีก.