เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชาการจัดการ พร้อมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้การต้อนรับผู้บริหารระดับสูง Mitsubishi Corporation นำโดย MR. Hiroyasu Sato ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ในการเดินทางมาเยือนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อย่างเป็นทางการ พร้อมลงนามความร่วมมือโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) และมอบเงินสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ Mitsubishi Corporation ว่า Mitsubishi Corporation ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการลงนามร่วมกันในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) ในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดจากงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินงานภาคธุรกิจที่ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมุ่งสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย

นอกจากนี้ Mitsubishi Corporation ยังได้มอบเงินสนับสนุนให้แก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาด้านการวิจัย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และกิจกรรมการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในจังหวัดกระบี่ โดยสำนักวิชาการจัดการเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) ในจังหวัดกระบี่ ผ่านโปรแกรมการฝึกอบรม และ Workshop โดยผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนส่ง โรงแรม บริษัททัวร์ และร้านอาหาร รวมถึงชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างประสบการณ์ระหว่างนักศึกษา นักวิชาการ และอาจารย์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลที่สำคัญจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวบอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) ในกระบี่และเสริมสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว