ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดการณ์ว่า โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2027 ขณะที่ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยโลกก็ได้สูงแตะที่ 1.42 องศาเซลเซียสเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในภาคพลังงาน ภาคการคมนาคมขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่า โลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่

ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน และสำหรับความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทย มีตั้งแต่เรื่องของมาตรการ Taxonomy และ CBAM ซึ่งกระทบต่อภาคการผลิต นำเข้า และส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอน แม้ผู้ประกอบการทุกระดับเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่ยังทำได้ล่าช้า เนื่องจากวิกฤตด้านพลังงาน เงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงยังขาดแคลนเงินทุน เทคโนโลยี และองค์ความรู้อีกจำนวนมาก ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน

ดังที่ล่าสุด รัฐ เอกชน และประชาสังคม กว่า 3,500 คน ร่วมกันแสดงพลังและระดมสมองในงาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ ด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นพื้นที่ทดลองสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเร่งเดินหน้า 4 แนวทาง ได้แก่ ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด, ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว, พัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมกับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และหนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพ SMEs ซึ่งภาครัฐเองก็พร้อมผลักดันข้อเสนอดังกล่าว เพื่อเร่งเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

“วันนี้เราได้เห็นแล้วว่า โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติในหลายด้าน ไม่ว่าจะน้ำท่วม น้ำแล้ง PM 2.5 ซึ่งล้วนเกิดจากวิกฤตโลกเดือด และเป็นปัญหาอันหนักหน่วงของประชาคมโลก ในช่วงปีที่ผ่านมา การผนึกกำลังในการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ที่ร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในการทำภารกิจเพื่อร่วมกันเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำนั้นเกิดความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เราสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนและเกษตรกร มีอาชีพ มีรายได้ ผ่านโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ ด้วยการส่งเสริมชุมชนให้ปลูกหญ้าเนเปียร์กว่า 100 ไร่ นำมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้ 2,100 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 2.5 ล้านบาทต่อปี และยังลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2,500 ตันคาร์บอน, การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศไทยให้เป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ โดยมีสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในปีที่ผ่านมาและในปีนี้ รวมกันสูงถึง 80% ลดการปล่อยคาร์บอน 1.17 ล้านตันคาร์บอน และเรายังตั้งเป้าหมายจะให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะไม่ใช้ปูนคาร์บอนซีเมนต์ ภายในปี 2568, การยกระดับนวัตกรรมรีไซเคิลเพื่อสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ตรงนี้ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน” ‘ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวบนเวที ‘ESG SYMPOSIUM 2024

ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนรวมกว่า 3,500 คน ได้ร่วมแสดงพลังและระดมสมองเพื่อหาแนวทางร่วม-เร่ง-เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมาซึ่งมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ในงาน ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส โดย ธรรมศักดิ์ ได้สรุปเป็นแนวทางนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น ผ่าน 2 ประเด็นหลัก คือ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พร้อมกับผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพื้นที่ทดลองแก้ปัญหาข้อติดขัด ทั้งในเชิงนโยบาย ระบบอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ควบคู่กับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสรุปเป็น 4 ข้อเสนอ ดังนี้

1. ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด (Law & Regulations) โดยภาครัฐเร่งเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงง่ายขึ้น สำหรับโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่  กำหนดให้มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อความเสถียรยิ่งขึ้น ภาครัฐนำการจัดทำกฎหมายแม่บทว่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมทั้งระบบ กระตุ้นการบริโภคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิล และจัดการของเสีย กำหนดมาตรการจูงใจ เช่น ลดภาษีหรือเงินสนับสนุน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมนโยบาย ‘Green Priority’ ให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐนำร่องจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อส่งเสริมการใช้สินค้ากรีนและสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เข้มแข็ง

2. ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance) โดยสนับสนุนงบประมาณพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอน ที่เป็นมาตรฐานสากล และจัดตั้งหน่วยงานในประเทศให้สามารถรับรองมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขอเงินทุนสีเขียว โดยเอสซีจีพร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน และเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ

3.พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Technology & Green Infrastructure) โดยรัฐสนับสนุนการใช้และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Heat Battery) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโครงสร้างและผลักดันการใช้โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำพื้นที่ว่างมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานสะอาด และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งไฟฟ้าให้เพียงพอกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด นอกจากนี้เร่งปรับปรุงระบบขนส่งสีเขียวครบวงจร ให้ใช้พลังงานสะอาดและประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน ลดเวลา เช่น ใช้ระบบวิเคราะห์เส้นทาง วิเคราะห์การบรรทุกสินค้าที่เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ ส่งเสริมการแยกขยะเปียกและขยะแห้งโดยจัดตั้งศูนย์คัดแยกและจัดการขยะที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เช่น เทคโนโลยีการคัดแยก ระบบบำบัดและจัดการขยะเหลือทิ้ง

และ 4. สนับสนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพการแข่งขัน SMEs ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุน ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Automation) และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs

“อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว จะเห็นผลเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับบริบทประเทศไทยยิ่งขึ้น หากรัฐบาลสนับสนุนการเดินหน้าสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และนำทั้ง 4 ข้อเสนอมาปฏิบัติในพื้นที่จริง ซี่งจะทำให้เห็นโอกาสและข้อจำกัด แนวทางแก้ไข โดยรัฐบาลส่งเสริมกระจายอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินงานสู่หน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อลดขั้นตอนและความไม่ชัดเจนในการดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนทุกด้านมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะเป็นโอกาสขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศในอนาคต เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและมีศักยภาพทางการแข่งขัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่สละเวลา ทุ่มเท มุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างบูรณาการตลอดมา  เอสซีจีและพันธมิตรทุกภาคส่วนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนข้อเสนอข้างต้นไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง” ธรรมศักดิ์ กล่าวต่อ

ด้าน ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ข้อเสนอในเวที ESG SYMPOSIUM 2024 นี้ รัฐบาลจะรับไป สิ่งใดที่สามารถทำได้จะประสานงานโดยเร็ว สิ่งใดต้องการความร่วมมือกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เรายินดีที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กัน นอกจากสิ่งที่รัฐจะทําแล้ว ภาคธุรกิจเองจะต้องปรับตัว แสวงหาโอกาส และเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองต่อเป้าหมาย Net Zero โดยบูรณาการมาตรการเพื่อความยั่งยืน หรือ ESG เพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เราทุกคนจะร่วมกันเปลี่ยนความท้าทาย แรงกดดัน และข้อจํากัด เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คือหัวใจแห่งความสําเร็จ รัฐบาลจะเร่งขับเคลื่อนทุกๆ นโยบายสําคัญ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั้งนี้ งาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ เป็นเวทีระดับประเทศที่มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ระดมความคิดเห็นและแนวทางการดำเนินงานด้าน ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากไทย อาเซียน และระดับโลก เพื่อหาแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำไปด้วยกัน โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วน และมีวิทยากรระดับโลกร่วมแบ่งปันประสบการณ์และตัวอย่างที่หลากหลายในการเปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ