วันที่ 1 ต.ค.มีประชุม ครม. “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ว่า ดีใจกับผลโพลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อันดับหนึ่ง ทำให้มีกำลังใจทำงาน และบอกว่า ที่ทำงานมาก็ได้ตรงตามเป้า นายกฯอิ๊งค์พูดถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) หรือม็อบเสื้อเหลือง ออกมาประกาศจะลงถนนไล่รัฐบาลในต้นปีหน้า นายกฯกล่าวพร้อมรอยยิ้มว่า “เพิ่งทำงานได้เดือนเดียวเอง จะไล่แล้วหรือคะ อย่าเพิ่งไล่เลยคะ” และว่า พร้อมคุยกับนายสนธิ เพื่อทำให้ประเทศสงบสุข ทำให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนด้วย และขอให้สื่อแนะนำว่า จะพูดคุยด้วยวิธีไหนดี เราไม่พร้อมมีเรื่อง ตนเองและรัฐบาลโฟกัสในเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากเพียงให้ประเทศชาติดี ถ้าหากจะต้องลงถนนกันจริงๆมาคุยกันก่อนก็ได้ว่าปัญหาคืออะไร คิดว่าทุกอย่างน่าจะคุยกันได้มันไม่จำเป็นต้องใช้ความเกลียดชังหรือความรุนแรงเข้าหา
นายกฯ อิ๊งค์ยังกล่าวทีเล่นทีจริงว่า“ถ้าสมมุติว่าตอนแต่งงานเมื่อปี 2019 แล้วเปลี่ยนนามสกุลก็อาจไม่มีปัญหาใช่หรือไม่” ก่อนหัวเราะแล้วตอบว่า“ก็ไม่ทราบเหมือนกันแต่ก็ไม่อยากให้มีเรื่อง”
สำหรับการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณาออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ยังเป็นเรื่องวนในอ่างไปเรื่อย “เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม บอกว่า เรื่องที่ สว.โหวตเอาประชามติ 2 ชั้น ก็ต้องหารือกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล จะให้นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานวิปรัฐบาล หารือกับ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาด้วย ให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังทำคืออะไร แล้วจะเป็นประโยชน์อย่างไร คิดว่าหากคุยกันจะหาข้อยุติได้ แต่อย่าเพิ่งสรุปว่า จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่สำเร็จในรัฐบาลนี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธว่า พรรคการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับ สว. แม้ว่า น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.จะอภิปรายว่า การกลับมติเรื่องประชามติมีใบสั่ง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องความคืบหน้าในการแก้รัฐธรรมนูญ เราต้องมีคณะทำงานสักชุดหนึ่งก่อน ประกอบด้วยทุกพรรคการเมืองมาพูดคุยกันว่าปัญหานั้นเป็นอย่างไร คิดว่าปัญหาอยู่ที่การทำประชามติ หากทำ 3 ครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเราทำตามนโยบายของรัฐบาล หากทำไม่ได้ก็ต้องชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงทำไม่ได้ แต่หวังว่าน่าจะทำได้
ที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรจัดพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ 11
“เท้ง ณัฐพงษ์” กล่าวว่า ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ปชน.ยืนยันว่า เรื่องมาตรฐานจริยธรรมมีปัญหาที่จะต้องแก้ไข เพียงแต่สาเหตุพักไว้ก่อน เพราะหากรัฐบาลไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้การเดินหน้าการแก้ไขทั้ง 7 ชุดถูกตีตก ซึ่งยังเหลืออีก 6 ชุดที่ต้องผลักดัน ทั้งเรื่องการบังคับการเกณฑ์ทหาร เรื่องสิทธิการศึกษาและสิทธิของประชาชนต่างๆ เชื่อว่ารัฐบาลก็จะเห็นตรงกัน ขอยืนยันอีกครั้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินฐานได้โดย 2 ช่องทางคือแก้ไขทั้งฉบับและแก้ไขรายมาตรา ขณะนี้พรรคประชาชนและฝ่ายค้านจะหารือกันผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ชุดที่เหลือ ในเดือน ต.ค.นี้
“ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน.กล่าวว่า ทางออกในการแก้ปัญหายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทันเลือกตั้ง คือต้องลดจำนวนครั้งการออกเสียงประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง เพื่อให้มีโอกาสมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จัดทำโดย ส.ส.ร.บังคับใช้ทันการเลือกตั้ง 2570 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะต้องบรรลุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.ทั้งของพรรค ปชน. และของพรรคเพื่อไทย ที่ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2567 เข้าสู่วาระการประชุม
“เมื่อบรรจุแล้ว ก็สามารถเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการลดการออกเสียงประชามติเหลือเพียง 2 ครั้งได้ เข้าใจความกังวลของประธานรัฐสภาที่กังวลว่าการบรรจุวาระดังกล่าว อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่พรรค ปชน. เคยอภิปรายไปในรัฐสภา และเห็นสอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยว่า การบรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติถึง 3 ครั้ง”
สำหรับบรรดามรสุมในพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ทั้งพรรคแตก หลังกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกไป และข่าวว่า กลุ่มมะขามหวานของนายสันติ พร้อมพัฒน์ และกลุ่มชากังราว ของนายวราเทพ รัตนากร จะออกจากพรรคอีก ล่าสุด นายสันติออกมาปฏิเสธข่าว และว่า ข่าวปล่อยมาเพราะมีคนใส่ร้าย ยืนยันยังอยู่กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ส่วนการตรวจสอบการลาประชุมของ“บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร” เจ้าตัวแก้เกมโดยไม่รับเงินเดือน มอบหมายนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. แถลงว่า บิ๊กป้อมทำหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ จำนวน 2 ฉบับ คือ 1.มีความประสงค์ขอไม่รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ สส.ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 ไปจนถึงวันสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง สส. และ 2.แจ้งความประสงค์ ขอคืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ สส.ทั้งหมดที่ได้รับ ตั้งแต่เป็นสมาชิกภาพจนถึงวันที่ 30 ก.ย.67 โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งจำนวนเงินทั้งหมดให้ทราบโดยเร็วเพื่อนำส่งคืนให้ครบถ้วน
“พล.อ.ประวิตรให้เหตุผลว่า การทำเช่นนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้ สส.ที่มีภารกิจมาก และอาจต้องลากิจกับสภาบ่อย ได้ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ยืนยันว่าจะเดินทางไปสภาให้มากขึ้น และขอแจ้งให้ทราบว่าในวันที่ 3 ต.ค.นี้ พล.อ.ประวิตร ได้ยื่นหนังสือลาไว้แล้ว เนื่องจากติดภารกิจสำคัญมาก ดังนั้นคนคอยจ้องจับผิดไม่ต้องไปรอดัก”
นายไพบูลย์กล่าวด้วยว่า ทราบข่าวว่าจะเกิดปัญหากับพรรคการเมืองที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เป็นสมาชิกพรรค ( เพื่อไทย) หรือที่รับใบสั่งจากแกนนำมาร้องเรียน ซึ่งตนเองทราบจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อได้ว่าในวันที่ 10 ต.ค. 2567 นี้เป็นต้นไปจะเกิดจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่มากของพรรคดังกล่าว อาจถึงจุดจบของพรรค ขอให้รับแรงกระแทกให้ดี เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะถึงยุบพรรคหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า “ประมาณนั้น แต่เรื่องอะไรขอให้รอดู”
ยังไม่รู้ว่า 10 ต.ค.จะออกรูปไหน แต่ก็มีโอกาสจะเกิดอะไรขึ้น รัฐธรรมนูญนี้วางกับดักไว้มาก เมื่อ “นายกฯเสี่ยนิด”นายเศรษฐา ทวีสิน โดนวินิจฉัยเรื่องจริยธรรมจนพ้นจากตำแหน่ง ก็เอาเรื่องจริยธรรมมาเล่นกันจนน่าเวียนหัว.