เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ศปช.ส่วนกลาง ได้มีการประชุม ติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังฝนตกหนักซ้ำในพื้นที่เสี่ยงเดิม 30 ก.ย.-2 ต.ค. 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จากฝนตกหนักซ้ำที่เดิม เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาปะทะกับความชื้น ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักมากถึงบริเวณจังหวัดดังกล่าว สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 1 ต.ค. 2567 ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนเจ้าพระยา ยังสามารถรับน้ำได้ 6,500 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ของความจุทั้งหมด
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมมลพิษเตรียมพร้อมแนวทางการบริหารจัดการสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยและระบบบำบัดน้ำเสีย ได้มีการเร่งขนขยะน้ำท่วมออกจากจุดพักขยะ จัดจ้างรถบรรทุกเพื่อขนขยะเพิ่มเติม พร้อมทั้ง สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการแจกจ่ายน้ำอีเอ็ม เพื่อทำความสะอาดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านร่องเสือเต้น ชุมชนบ้านใหม่ จึงขอประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหากลิ่นขยะในพื้นที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ซึ่งประชาชนสามารถขอรับน้ำอีเอ็ม ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่)
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า พบผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 160 ราย ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. 13 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 2,112 ราย ผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายคงเดิม 53 ราย และ 1 ราย มีการเปิดศูนย์พักพิงในพื้นที่ 13 จังหวัด จำนวน 111 แห่ง รองรับประชาชนได้ 25,260 ราย ขณะนี้มีประชาชนเข้าพัก 663 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 87 แห่ง ใน 16 จังหวัด ในจำนวนนี้ยังต้องปิดบริการ 3 แห่ง คือ รพ.สต.แม่ปูนล่าง จ.เชียงราย, รพ.สต.ป่าแมต จ.แพร่ และรพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขออกเยี่ยมบ้านและตรวจรักษาประชาชน 417 ราย รวมทั้งออกดูแลกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยฟอกไต ผู้ป่วยจิตเวช จำนวน 261ราย และสื่อสารความรู้ในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
นายจิรายุ กล่าวว่า ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานถึงผลการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน 2567 ซึ่งมีประชาชนยื่นคำร้องในระบบ 45 จังหวัด 38,758 ครัวเรือน โดย ปภ. ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสิน 3 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 26-30 ก.ย. 2567 รวม 7,327 ครัวเรือน ซึ่งผลการเงินเยียวยาผ่านระบบพร้อมเพย์ โอนสำเร็จแล้ว 5,733 ครัวเรือน รวมเป็นจำนวนเงิน 28,707,000 บาท
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ศปช.ส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย ในวันนี้ (1 ต.ค.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ส่วนหน้า จ.เชียงราย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจาก 37 จังหวัด รวมกว่า 1,400 นาย ที่ระดมทีมช่วยเหลือและฟื้นฟูจังหวัดเชียงราย และร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย และข้อมูลจาก ปภ. มีการกำหนดกรอบทิศทางการฟื้นฟูที่ชัดเจน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม บูรณาการทรัพยากรในการฟื้นฟูอย่างยิ่งในส่วนของ จ.เชียงราย อ.เเม่สาย อ.เวียงป่าเป้า ให้เป็นรูปธรรม ภายในวันที่ 31 ต.ค. นี้ ให้มีการเเบ่งโซนชัดเจน.