ความจริงที่ดูเหมือนจะจริงเกินไปของหนังสือเล่มนี้ ได้ตอกยํ้าประสบการณ์ร่วมของผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่น ตั้งแต่ความยากลำบากในการรับมือกับความคาดหวังของครอบครัวการจัดการอารมณ์ความรู้สึกความคิด และการก้าวเท้าเข้าไปสู่โลกของผู้ใหญ่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ทิ้งบาดแผลไว้ทั้งแทบสิ้น จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทาน ความเข้าใจ และกลไกการดูแล

“นักศึกษา” ที่ต้องจากบ้านต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพใจของนักศึกษา จากการเก็บสถิติและติดตามสถานการณ์นักศึกษาอย่างใกล้ชิด นำมาสู่ความเข้าใจและการพยากรณ์พฤติกรรม โดยพบว่า ในช่วงการสอบมิดเทอมและไฟนอล ราว 1 ใน 3 ของนักศึกษาทั้งหมด จะมีภาวะเครียดและเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และยังพบอีกว่า “นักศึกษาชั้นปีที่ 1” เป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

ธรรมศาสตร์จึงได้จัดตั้ง “Thammasat Well Being Center” ขึ้นมาดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักศึกษาและบุคลากร โดยจะทำงานเชิงรุก เชื่อมต่อบริการผ่านแอปพลิเคชัน “TU Future Wellness” ที่ฝังอยู่ภายใน Super Application ของธรรมศาสตร์ที่ชื่อว่า TU GREATS ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรวบรวมทุกบริการของมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคนมี

พร้อมกันนี้ยังจะมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลในลักษณะ Health Profile เพื่อให้เห็นภาพรวมของสุขภาวะคนในประชาคมธรรมศาสตร์ ผศ.บุรชัย อัศวทวีบุญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา อธิบายว่า Thammasat Well Being Center คือศูนย์กลางการให้บริการทุกมิติสุขภาพ แบ่งเป็น 1.ดูแลสุขภาพกาย มีการจัดพยาบาลประจำศูนย์ รวมทั้งมีแพทย์เข้ามาสนับสนุนการให้บริการเป็นรายกรณี พร้อมกับจัดบริการ Virtual Clinic ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้นักศึกษาและบุคลากรสามารถเข้ามาพบแพทย์ออนไลน์ทางไกลได้ ครอบคลุมทั้งนักศึกษาและบุคลากรทั้งท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา 2.ดูแลสุขภาพใจ เริ่มจากการประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตผ่านทางแอปพลิเคชัน TU Future Wellness ตลอดจนการมีนักจิตวิทยาประจำศูนย์​ นักศึกษาสามารถนัดหมายได้ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 . ส่วนในช่วงนอกเวลาจะมีทีม outsource คอยให้บริการรับสายผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะเป็นเครือข่ายจากศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และในกรณีเร่งด่วนจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือทันที

นอกเหนือจาก Thammasat Well Being Center ที่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 Good health and Well-being หรือ สุขภาพดีสุขภาวะดี แล้ว ธรรมศาสตร์ภายใต้การนำของ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดี ยังได้จัดระบบดูแลนักศึกษาที่ตอบเป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth หรือ การส่งเสริมการมีงานที่ดีที่เหมาะสำหรับทุกคน ด้วย เพราะโลกแห่งการทำงานต้องการทักษะที่มากกว่าความรู้ในห้องเรียน จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ TUCEEC ขึ้นมาเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพในการทำงานจริงให้แก่นักศึกษา ตลอดจนพัฒนาทักษะใหม่ให้แก่ศิษย์เก่า

ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและนิติการ อธิบายว่า TUCEEC จะทำหน้าที่เชื่อมโยงนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ากับโลกของการทำงาน อาทิ การจัดอบรมพัฒนาทักษะ ตั้งแต่บุคลิกภาพ การสัมภาษณ์งาน การต่อรอง การรับมือกับปัญหาในที่ทำงาน การประสานเพื่อให้เกิดการฝึกงานสหกิจศึกษา ตลอดจนการจัดหางาน การแนะนำตำแหน่งงาน ที่ตรงตามสมรรถนะและความต้องการของทั้งสถานประกอบการและนักศึกษา รวมถึงการสนับสนุนให้ศิษย์เก่าเข้ามาพัฒนาทักษะใหม่ ๆ

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า จากนโยบายของ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ที่ต้องการสนับสนุนให้นักศึกษาจบไปแล้วมีงานทำ 100% จึงได้มีการจัดตั้ง TUCEEC เพื่อเชื่อมโยงธรรมศาสตร์กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะดูแลเรื่อง Job Matching, Up-Skills Re-Skills และที่สำคัญคือมีการจัดทำ “ศูนย์กลางข้อมูล” ผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะบรรจุข้อมูลของนักศึกษา-ความถนัด ฯลฯ ให้ผู้ประกอบการได้พิจารณา ขณะเดียวกันก็มีการบรรจุข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ ที่เปิดรับสมัครงาน รับสหกิจศึกษา ตลอดจนความต้องการอื่น ๆ ให้นักศึกษาได้พิจารณาด้วย

“ในอนาคต ตรงนี้จะถูกพัฒนาเป็น Big Data ที่ช่วยสนับสนุนทั้งบัณฑิตและผู้ใช้บัณฑิต รวมถึงศิษย์เก่า โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้รับรองคือใครอยากได้บัณฑิตธรรมศาสตร์ไปทำงาน ก็เข้ามาในนี้ได้เลย” ผศ.ดร.รัชฎากล่าวทิ้งท้าย.