ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนากรอบแนวคิดการสร้างหลักสูตรสำหรับการผลิตบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะสำหรับการพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 5 ใช้แนวคิด Competency-based Education โดยมี รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 5 จำนวน 22 แห่ง เข้าร่วม ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแข่งขันในตลาดแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนในตลาดแรงงานปัจจุบัน พบว่า กำลังคนส่วนใหญ่มีสมรรถนะและทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง ไม่สามารถเรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับวิธีการงานใหม่ ๆ เกิดช่วงห่างทางทักษะ (Skill Gap) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สร้างความท้าทายให้กับสถาบันอุดมศึกษาอย่างมาก
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่กระทรวง อว. เป็นกลไกหลักสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนระบบอุดมศึกษาไทย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไม่มีขีดจำกัดเป็นสิ่งจำเป็น โดยยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสอดคล้องตรงตามความต้องการของนายจ้างและตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศ เสริมสร้างบุคลากรคุณภาพสูงของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความเป็นมืออาชีพ มีสมรรถนะด้านการออกแบบการเรียนการสอน ที่ตอบสนองความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการนี้จะสามารถจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรสายวิชาชีพและสาขาจำเพาะที่เป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และพัฒนารูปแบบ วิธีการรับรองสมรรถนะผู้เรียนที่สะท้อนถึงความสามารถในการทำงานที่แท้จริง สุดท้ายนี้ความร่วมมือของทุกท่านจะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและกำลังคนของประเทศไทยให้มีคุณภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากลต่อไป
สำหรับภายในงานดังกล่าว ประกอบไปด้วบการเสวนาเกี่ยวกับการผลิตบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์นโยบายความต้องการของประเทศ รวมถึงมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยให้ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยร่วมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญที่เป็นจุดแข็งในการผลิตบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการลดภาวะการว่างงานในอนาคต