เป็นที่น่าตั้งคำถามว่า ขณะนี้ “ประเทศไทยติดหล่มเพื่อแก้กติกาให้ถูกใจนักการเมืองอยู่หรือไม่ ?” เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีการทำประชามตินัดแรก เพื่อสอบถามประชาชนว่าต้องการให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ การแก้ พ.ร.บ.ประชามติ ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ได้แก้ไขให้เสียงรับรองประชามติผ่าน เอาที่เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง แต่ในชั้น สว.มีข่าวว่า จะกลับมติให้ใช้ประชามติสองชั้น คือ เอาเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดเป็นชั้นแรก และเอาเสียงข้างมากที่ออกเสียงผ่านประชามติเป็นชั้นที่สอง ซึ่งถูกมองว่า จะทำให้ประชามติล่าช้า การแก้รัฐธรรมนูญจะถูกเลื่อนออกไป
ขณะที่ในส่วนของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ กมธ.กลับไม่สรุปว่า “จะนิรโทษกรรมรวมคดี ม.112 หรือไม่” และจะเอาความเห็นต่างมาอภิปรายในสภา ซึ่งก็ไม่ทราบว่า “เช่นนั้นจะตั้ง กมธ.ไปทำไม ?” และฝ่ายวิปรัฐบาลก็“เกิดความขลาด” ไม่รู้เรื่องกฎหมายจะไม่ผ่าน หรือกลัวจะเกิดกระแสต้าน แต่มันกลายเป็นว่า การเมืองทุกวันนี้วนเวียนอยู่กับเรื่องแก้กฎหมาย จนแผนพัฒนาอะไรแทบไม่เป็นข่าว
“เสี่ยอ้วน”ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์เรื่องที่ สว.จะกลับมติให้ใช้ประชามติสองชั้น ในการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ… วุฒิสภา โดยสื่อมวลชนถามว่า “มีข้อครหาว่ามีใบสั่ง” เสี่ยอ้วนว่า จะมาพูดว่ามีใบสั่งก็พูดยาก เพราะเราไม่มีหลักฐานอะไร หากไปพูดก็จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน แต่ต้องขอให้ สว.ใช้ดุลยพินิจว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การอำนวยความสะดวกให้นักการเมือง เราต้องการให้ทำประชามติ ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าไม่แตะต้องกฎหมายสำคัญ เช่น หมวด 1 หมวด 2 หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นมองว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”เสี่ยอ้วนว่า และบอกเรื่องคดีตากใบด้วยว่า เมื่อทุกอย่างจะยุติวันที่ 25 ต.ค. อยากให้ผู้เกี่ยวข้องไปรายงานตัวต่อศาล แต่สำหรับ “บิ๊กอ๊อด”พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นั้น ติดต่อได้แค่ตามบ้านเลขที่เท่านั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ตอนนี้ยังถือว่า พล.อ.พิศาล ยังบริสุทธิ์อยู่
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า หาก สว.แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยให้ฟื้นใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเอาข้อบังคับมาพิจารณาร่วมกัน อาจตั้ง กมธ.ร่วมกัน อาจมีผลให้ไทม์ไลน์ที่ให้ทำพร้อมกับการเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเดือนก.พ.ปี 68 ไม่สามารถทำได้ ต้องแยกการพิจารณาทำคนละครั้ง ทางออกที่ดีที่สุดคือการหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ต้องคุยกันให้ชัด ว่าการเดินต่อไปควรจะเดินแบบไหน เช่น ขณะนี้มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ( มาตราว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ) เลยหรือไม่ โดยเสนอญัตติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ถ้าผ่านรัฐสภาก็ไปทำประชามติเลย แนวทางนี้จะทำประชามติเพียงสองครั้ง ไม่จำเป็นต้องสามครั้งเหมือนเดิม
ผู้สื่อข่าวถาม ต้องคุยให้พรรคการเมืองหนึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อ สว.ด้วย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า “อย่าไปพูดแบบนั้นมันไม่ดี เอาเป็นว่าผมขอเสนอให้มานั่งจับเข่าคุยกันในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาลด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยหลายพรรค ว่าถ้า สว.เดินไปแบบนี้แล้วรัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไร”
ส่วนกฎหมายนิโทษกรรม นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 3 ต.ค. 2567 อาจต้องเลื่อน เพราะพรรคการเมืองบางส่วนได้เสนอร่างกฎหมายขอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง รวมความผิด ป.อาญา ม.112 ด้วย แต่เพื่อให้เป็นไปได้ดีที่สุดและละมุนละม่อมที่สุด ควรนำเรื่องทั้งหมดไปหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ตกผลึก พรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในสภา ฉะนั้น หากเราไม่ฟังกันก็ไม่ประสบความสำเร็จ
“ได้ปรึกษา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล อยากให้เลื่อนวาระออกไปเพื่อรอฟังความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคการเมืองให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งไม่น่าสายเกินไป ซึ่งการนัดพูดคุยต้องให้นายวิสุทธิ์ทำหน้าที่ อาจจะพูดคุยกับรองนายกฯ เพื่อให้นัดหัวหน้าพรรคมาพูดคุย และในการพูดคุยอาจจะรวมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วย คิดว่าเป็นการเห็นต่างกันมากกว่าในเชิงกฎหมาย คงไม่มีใครมาสกัดกั้นรัฐบาลกันเอง” น่าสนใจว่า “พรรคไหนใหญ่สุดในรัฐบาล” เป็นพรรคเดียวกันหรือไม่ที่ “อาจจะ”เตะถ่วงกฎหมายประชามติ และกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้ารัฐบาลรักกันเหนียวแน่นก็ไปคุยกันให้ดี
ในที่สุด ในการประชุมวุฒิสภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ… ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน167ต่อ19 งดออกเสียง 7 ให้ใช้ประชามติ 2 ชั้น ส่งร่างให้สภาผู้แทนราษฎร ว่าจะยืนยันเนื้อหาตามที่ สว.แก้ไขหรือไม่ ถ้าไม่ยินยอมจะต้องตั้ง กมธ.ร่วม สส.และ สว. มาพิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม กมธ.เสียงข้างน้อย และสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ต่างอภิปรายคัดค้านแนวทางเสียงข้างมาก 2 ชั้น อาทิ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า มติกมธ.เสียงข้างมากให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นทำประชามติ เชื่อว่ามีใบสั่ง อย่าความจำสั้น เพราะก่อนหน้านี้มติ กมธ.ยังให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แต่มากลับลำในการประชุมเมื่อวันที่ 25ก.ย.67 เพราะมีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า หาก สว. ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว จะต้องตั้ง กมธ.ร่วม ฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ ร่างดังกล่าวจะถูกแขวนไว้ 180 วัน หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎร จึงสามารถยืนยันใช้ร่างฉบับของตัวเองได้ จะส่งผลกระทบให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ ใครจะรับผิดชอบที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ถ้า สว.ส่งร่างคืนมาให้สภาผู้แทนราษฎร จะตั้ง กมธ.ร่วมในวันที่ 9ต.ค.นี้
“มีเวลาวันที่ 16-23 ต.ค.ที่ กมธ.ร่วมจะหาทางออกร่วมกัน จากนั้นวันที่ 24 ต.ค. ทาง กมธ.ร่วมจะส่งร่างให้สภาผู้แทนผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พิจารณา วันที่ 28ต.ค.นี้ สว.จะประชุมพิจารณา และวันที่ 30 ต.ค.สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณา ถ้าตกลงกันได้ก็ทำประชามติทันวันที่ 2ก.พ.2568”
นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาวงศ์ สว. ในฐานะกมธ.เสียงข้างมาก อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว สมัยทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 – 2560 ก็ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นทั้งสิ้น ส่วนนายสิทธิกร ธงยศ สว. อภิปรายว่า ความพยายามให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งนายก อบจ. ไม่ชอบมาพากล ขณะนี้มีพรรคการเมืองใหญ่เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. แล้ว 70-80% หาก สว.ให้ทำประชามติวันดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือนักการเมือง คนแก่ที่จะไปเลือก ต้องปรึกษาหัวคะแนน ใบแรกเลือก นายก อบจ. ใบที่สองเรื่องประชามติก็ต้องถามหัวคะแนน จึงเป็นเรื่องแอบแฝง จัดตั้งมีระบบอุปถัมภ์ จะได้รัฐธรรมนูญไม่มีคุณภาพ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หลงเกมนักการเมือง
สำหรับกรณีที่นิด้าโพล สำรวจคะแนนนิยม “อยากให้ใครเป็นนายกฯ มากที่สุด” พบว่า “นายกอิ๊งค์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” คะแนนนำ “เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน ( ปชน.) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯอิ๊งค์ได้ความนิยม ไม่ใช่เพราะบารมีนายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ตั้งแต่ น.ส.แพทองธาร เข้ามาเป็นนายก ฯ คนก็จะเห็นว่าหุ้นขึ้น และการลงพื้นที่ดูปัญหาน้ำท่วม ประชาชนก็ชื่นชอบ รวมถึงเงิน 10,000 บาท ล็อตแรกที่ออกไปชาวบ้านก็เฮกันทั้งประเทศ และในล็อตที่สองหากได้อีก 25 ล้านคนก็จะดีกว่านี้ เศรษฐกิจดี ประชาชนขายของดีขึ้น แม้แต่ตลาดค้าวัวควายในภาคอีสาน บางบ้านได้เงินรวม 4-5 หมื่น ก็ไปวัวควายซื้อมาเลี้ยง ทุกอย่างหมุนไปหมด ตนเชื่อว่าจะยิ่งดีขึ้นกว่านี้ เชื่อว่านายทักษิณในฐานะพ่อ ก็ให้คำแนะนำเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่มีใครห้ามได้แต่เป็นเรื่องที่ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคต้องปรับปรุงอะไรหรือไม่เพราะคะแนนความนิยมยังไม่ตีตื้นพรรคประชาชน ( ปชน.) นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เห็นว่าโพลยังย้อนแย้งอยู่ ระหว่างพรรคกับตัวบุคคล มั่นใจว่าวันนี้ที่ทำงานกันในรัฐบาล ก็อยู่ในหัวใจประชาชน แล้วจะเห็นได้จากการลงพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ ยังมีความสามัคคีกันอยู่ ประชาชนก็อยากให้รัฐบาลเข้มแข็งทำงานกันเป็นทีม และไม่ใช่ว่าเลือกคนไม่เลือกพรรค ตนฟังกระแสจากประชาชนมันตรงข้ามกับโพลที่ออกมา นี่แค่เพิ่งต้นสมัยการเป็นนายกฯ ต้องรอให้การทำงานพิสูจน์ อย่างว่า คือ ให้มันมีผลงานเชิงประจักษ์ที่เป็นฝีมือนายกฯ เองชัดๆ บ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้กระแสข่าวการเมืองวนอยู่แค่แก้กฎหมาย แก้กติกา