ที่บริเวณ Hall 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมเยี่ยมชมบูธกิจกรรมกระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด ‘Change for Good’ ในงาน Sustainability Expo 2024 หรือ SX2024 โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร รองประธานกรรมการองค์การตลาด นายบูรณิศ ยุกตะนันทน์ ผู้อำนวยการองค์การตลาด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ กระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับและนำชม
โอกาสนี้ นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟังการบรรยายภาพรวมบูธกิจกรรมกระทรวงมหาดไทย โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งร่วมเขียนข้อความแสดงเจตนารมณ์บนกระดานรูปแผนที่ประเทศไทย โซน Tell us about your PASSION ความว่า “Pass on Sustainability to the future” และได้ร่วมพบปะพี่น้องประชาชนผู้เที่ยวชมงาน รวมถึงมอบต้นกล้วยไม้ให้กับผู้ร่วมกิจกรรมบูธกิจกรรมกระทรวงมหาดไทย บริเวณซุ้มมหาดไทยปันสุข
ทั้งนี้ ในระหว่างที่นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมงาน ได้ร่วมต้อนรับนางแอนนา ฮัมมาร์เกรน เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย ซึ่งมาเยี่ยมชมบูธกิจกรรมกระทรวงมหาดไทยด้วย
นางสาวซาบีดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทุกเป้าหมายล้วนสอดคล้องกับภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของกระทรวงมหาดไทย ด้วยการทำงานร่วมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต่าง ๆ มุ่งให้สังคมไทยมีการเติบโต ที่ทันโลก ทันสมัย และทันท่วงที อย่างมั่นคง และยั่งยืน ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสริมสร้างรายได้ ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ มาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาน้ำดื่มสะอาด เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อสร้างอากาศที่สะอาด การขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) การบริหารจัดการขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนและธนาคารขยะ (Reclyclable Waste Bank) การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการสวมใส่ผ้าไทย
“กิจกรรมของกระทรวงมหาดไทยในงาน SX2024 ล้วนแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างความสำเร็จของการขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ด้วยกลไกการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้นำการบูรณาการในเชิงพื้นที่ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้การสนับสนุนบทบาทของพี่น้องข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้พี่น้องประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน และขอขอบคุณนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ท่านได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเสริมสร้างความยั่งยืนร่วมกับพี่น้องข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ทำให้กระทรวงมหาดไทยได้เป็นภาคีเครือข่ายที่แนบแน่นของ UN Thailand รวมถึงภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาต่าง ๆ ดังประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา” และเราจะได้ร่วมกันนำนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้มอบแนวทางในงานประกาศความสำเร็จการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการนำตัวอย่างความสำเร็จหรือ Best Practice สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวซาบีดา กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า บูธกิจกรรมกระทรวงมหาดไทยในงาน SX2024 เป็นการนำเสนอผลการขับเคลื่อนภารกิจสร้างความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ภายใต้กลไกของกระทรวงมหาดไทย โดยมุ่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งมีหลักชัยที่สำคัญ นั่นคือพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “สืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และต่อมาพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสอันเปรียบเสมือนพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 ที่เป็นการอรรถาธิบายเป้าหมายของพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งคำว่า “แก้ไขในสิ่งผิด” มีนัยที่สำคัญ คือการแก้ไขเรื่องที่เคยผิดพลาดในสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ 1) ทฤษฎีใหม่ที่มีมากกว่า 40 ทฤษฎี อาทิ ฝนหลวง หญ้าแฝก อธรรมปราบอธรรม ด้วยการนำไม้น้ำ ธูปฤาษี รวมถึงผักตบชวา ที่เป็นพืชซึ่งไม่มีประโยชน์กับคน นำเอาไปบำบัดน้ำเสียที่เป็นอธรรมเช่นกัน และเมื่ออธรรมมาเจอกับอธรรมก็ทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี รวมถึงเกษตรทฤษฎีใหม่ และเรื่องฝายแม้ว หรือป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ให้พืชเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช และ 2) โครงการพระราชดำริมากกว่า 4,741 โครงการ เช่น ที่แหลมผักเบี้ย,โครงการหุบกะพง จ.เพชรบุรี ดอยสะเก็ด จ.ชียงใหม่ ซึ่งโครงการพระราชดำริมีจำนวนมากที่ล้วนแต่ส่งผลให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน รวมไปถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เช่น ป่ารักษ์น้ำ กองทุนแม่ของแผ่นดินเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยให้ชุมชนดูแลชุมชน รวมถึงงานหัตถศิลป์หัตถกรรม ที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
“ในโอกาสที่ตนปฏิบัติราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยในวันนี้เป็นวันสุดท้าย จึงขอฝากท่านซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอต่อท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการทำให้นักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานของพวกเรา ได้เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างจริงจัง และได้รับการบ่มเพาะให้เป็นจิตอาสา ทั้งที่มีเครื่องแบบและไม่มีเครื่องแบบ รวมไปถึงวิทยากรผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ห้องปฏิบัติการ และระบบติดตามงาน MOI War Room แอปพลิเคชั่น ThaiD ผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo– social Map) และแพลตฟอร์ม ThaiQM ซึ่งเราได้ทำการสำรวจครัวเรือน จำนวน 20 ล้านครัวเรือน จนเกิดเป็นฐานข้อมูลที่กระทรวงมหาดไทยสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพราะในประเทศนี้แม้แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติที่เก็บข้อมูล TPMAP ก็ไม่ละเอียดครอบคลุมทุกครัวเรือนเท่ากับ ThaiQM และ ThaiQM จะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญที่ใช้ในการกำกับงานของฝ่ายนโยบายหรือผลักดันให้ฝ่ายข้าราชการประจำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 7,849 แห่ง ใน 878 อำเภอ 76 จังหวัด ขับเคลื่อนงานเพื่อให้การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนได้ ดังที่กระทรวงมหาดไทย โดยฝ่ายข้าราชการประจำได้ดำเนินการมาในห้วง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา กระทั่งเกิดผลสำเร็จที่นำเสนอภายในบูธกิจกรรมฯ นี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม