เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 3 ต.ค. นี้ ว่า ร่างกฎหมายจะสำเร็จเป็นกฎหมายได้ก็เป็นเรื่องของ สส. และ สว. ที่จะต้องเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเป็นอย่างไร ตนคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะพรรคการเมืองบางส่วนได้เสนอร่างกฎหมายขอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง บางส่วนบอกว่าหากนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแล้ว ก็ให้รวมกับคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย แต่ขณะนี้ร่างกฎหมายทั้งหมด รวมถึงรายงานของ กมธ.วิสามัญนิรโทษกรรมฯ ชุดที่ตนเป็นประธาน ก็ยังค้างอยู่ในสภากำลังรอการพิจารณา
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าเพื่อให้เป็นไปได้ดีที่สุดและละมุนละม่อมที่สุด ควรนำเรื่องทั้งหมดไปหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ตกผลึก แต่ท้ายที่สุดแล้วพรรคการเมืองจะมีความเห็นอย่างไร พร้อมจะเสนอร่างกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ต้องทำเช่นนี้เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในสภา ฉะนั้น หากเราไม่ฟังกัน เมื่อมีการเสนอและพิจารณากันแล้วก็จะคล้ายกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ตนจึงปรึกษานายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่าอยากให้เลื่อนวาระออกไป เพื่อรอฟังความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคการเมืองให้ครบถ้วน ซึ่งไม่น่าสายเกินไป
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่มีบางพรรคออกมาบอกว่าไม่ขอให้นิรโทษกรรมแก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนั้นต้องให้เขาตกผลึกมาว่าเป็นเช่นนี้ เวลามาพิจารณากันก็จะเห็นภาพและตัดสินใจได้ถูก ซึ่งตนทราบดีว่า บางพรรคต้องการและบางพรรคไม่ต้องการ เพราะตนเป็นประธาน กมธ. มาก็ทราบดี เพราะได้มีการพูดคุยกันใน กมธ. เพียงแค่ไม่ได้มีการเชิญพรรคต่าง ๆ มาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ จึงคิดว่าฟังหัวหน้าพรรคการเมืองดีที่สุดว่าเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ เพื่อเดินหน้าต่อไปจะได้ถูก
เมื่อถามอีกว่าจะต้องมีการคุยอย่างเป็นทางการหรือไม่ หรือตีกรอบไว้เมื่อไหร่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้นายวิสุทธิ์ เป็นคนทำหน้าที่ ซึ่งอาจจะพูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นัดหัวหน้าพรรคมาพูดคุย และในการพูดคุย อาจจะรวมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องคุยกัน ตนเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า ทางออกดีที่สุดคือหารือร่วมกันระหว่างหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อถามว่ามองว่ามันจะไม่ใช่เป็นเกมที่ใช้สกัดกั้นรัฐบาล ให้ทำตามนโยบายได้สำเร็จใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองแบบนั้น คิดว่าเป็นการเห็นต่างกันมากกว่าในเชิงกฎหมาย คงไม่มีใครมาสกัดกั้นรัฐบาลกันเอง แต่ก็ต้องเรียนให้ทราบว่า ความเห็นทางกฎหมายก็สามารถเห็นต่างกันได้