แต่มากไปกว่านั้น อาร์ตทอยยังมีเรื่องน่ารู้น่าติดตามอีกหลายมิติ โดยที่ผ่านมาเวทีเสวนาทางวิชาการ Museum Talk โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นำหัวข้อ อาร์ตทอยxมิวเซียม พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์กับงานศิลปะที่จับต้องได้ มาพูดคุยร่วมในงาน150 ปี พิพิธภัณฑ์ไทย สยามซิวิไลซ์ A Passage to Wisdom ในวาระครบรอบ 150 ปีแห่งการเริ่มต้นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้ชวนถอดรหัสต่อ เมื่ออาร์ตทอยกับมิวเซียคอลแลปกัน โดย ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครหนึ่งในวิทยากรในเวทีเสวนาให้มุมมอง ทั้งพาย้อนชมการสร้างสรรค์อาร์ตทอยที่ผ่านมา
“อาร์ตทอย เป็นสื่ออย่างหนึ่ง” โดยจุดเริ่มต้นที่อาร์ตทอยเข้ามาร่วมเป็นสื่อสร้างสรรค์เริ่มจากนิทรรศการพิเศษ“เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย:สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” ซึ่งจัดแสดงเครื่องเคลือบเซรามิก จากพิพิธภัณฑสถานเซรามิกแห่งคิวชู ประเทศญี่ปุ่น และเครื่องปั้นดินเผาของไทยจากหลากหลายแหล่งจัดแสดงร่วมกัน ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปี2564 โดยนอกจากผู้ชมจะได้รับความรู้ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมเครื่องปั้นจากทั้งสองประเทศฯลฯ ในนิทรรศการครั้งนั้นมีกิจกรรมตู้กาชาปองให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสนุกเรียนรู้ โดยภายในจะบรรจุเครื่องสังคโลก เครื่องปั้นดินเผาขนาดเล็กหลากหลายแบบให้เลือกสะสม
จากการตอบรับและในครั้งต่อๆมาของอาร์ตทอยที่คอลแลปกับพิพิธภัณฑ์ พบว่า ไม่ใช่แค่ความสนใจสะสม แต่พบความสนใจถึงสิ่งที่ได้มาว่าชิ้นไหนคืออะไร จัดแสดงอยู่ที่ไหน จากตู้กาชาปองก็จะตามหาเพื่อชมชิ้นจริงที่จัดแสดงในนิทรรศการ ในห้องจัดแสดงต่างๆ ฯลฯ เป็นเหมือนการเติมช่องว่าง ทั้งสร้างการเรียนรู้ที่น่าติดตาม ได้ความทรงจำ ความประทับใจกลับไป เมื่อมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ฯ
“ ความทรงจำอาจไม่ได้เก็บไว้แค่ภาพถ่าย “อาร์ตทอย” เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำที่จับต้องได้ นำไปเล่น นำไปเป็นแรงบัลดาลใจ จะจัดวาง สร้างสรรค์ต่อก็เป็นไปได้ เป็นสิ่งที่มาช่วยเติมเต็มให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ขณะเดียวกันสำหรับพิพิธภัณฑ์ฯ ตัวทอย เป็นสื่อหนึ่งสร้างการเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ ฯลฯ เมื่อมีความสนใจก็จะเกิดการศึกษา ค้นคว้าขยายความรู้ของตนเองต่อไป”
จากอาร์ตทอยกับพิพิธภัณฑ์ในครั้งทดลอง ต่อเนื่องมามีอีกหลายชุด อย่างเช่น ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ฯพระนครจัด “สงกรานต์แฟร์ : นพเคราะห์บูชาดาราจร รับพรสงกรานต์ปีเถาะ”จัดแสดงนิทรรศการพิเศษเก้าดารา ให้ความรู้เกี่ยวกับเทวดานพเคราะห์ในวิถีชีวิตไทยซึ่งก็มีอาร์ตทอย “นวพ่าห์” สัตว์พาหนะ 9 ชนิดของเทวดาประจำวันเกิด คอลเล็คชัน “นวคเณศ” ซึ่งในความหมายของ นว แปลความได้ทั้งเก้าและใหม่ ครั้งนั้นจะเห็นถึงการสร้างสรรค์การออกแบบที่มีความหลากหลายของศิลปิน แต่ละสตูดิโอจะนำคาแรคเตอร์ของตนเองมาออกแบบพระคเนศ ซึ่งจะเห็นถึงจำนวนผู้เข้ามาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้น เห็นถึงความสนใจจากอาร์ตทอย
ในช่วง 150 ปีพิพิธภัณฑ์ฯก็สร้างสรรค์ ชุดล่าสุด มีแนวคิด มินิมิวเซียม ‘ร้อยพิพิธ’ มีอาร์ตทอยเซตธรรมจักร,เซตโกเดนท์บอย และ หม้อสามขา อาทิ เซตธรรมจักรมี ธรรมจักรลายผักกูด จากเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ธรรม จักรลายลูกประคำ จากเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี ธรรมจักรมีรูปสุริยาทิตย์ จากเทวสถาน กรุงเทพมหานคร หรือ เซตหม้อสามขา จะมีหม้อบ้านเชียง หม้อสามขาและ ไหดินเผา ผลงานมือกระบี่xพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดทำขึ้นซึ่งได้รับการตอบรับทั้งจากนักสะสม ผู้ชื่นชอบและผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ
จากที่กล่าว อาร์ตทอยเป็นสื่อ การเกิดขึ้นในแต่ละชุดยังนำมาออกแบบดีไซน์เป็นกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โบราณคดี โบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ โดยศุภวรรณ ภัณฑารักษ์ชำนาญการเล่าเพิ่มอีกว่า อย่างเช่น สงกรานต์แฟร์ครั้งแรก นอกจากกาชาปองชุดพิเศษ เราดีไซน์เส้นทาง นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเรียนรู้ถึงที่มาของเทวดานพเคราะห์และเทศกาลมหาสงกรานต์ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในห้องจัดแสดงต่าง ๆ มีสมุดให้ประทับตราเพื่อออกตามหาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เกี่ยวเนื่องกับเทวดานพเคราะห์ ฯลฯ สร้างเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา ส่งต่อการเรียนรู้ต่อเนื่องไป โดยเหล่านี้เป็นจุดหมายหลักของเรา
“ อาร์ตทอยที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ของสะสมของที่ระลึก แต่ทอยที่ผูกอยู่ในกิจกรรมต่างๆ จะกระตุ้นความสนใจให้ใช้เวลาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ทั้งเปิดพื้นให้กับศิลปินรุ่นใหม่สร้างสรรค์ แสดงผลงานอาร์ตทอย นำประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทย แรงบัลดาลใจจากโบราณวัตถุ นำมาสร้างเป็นคาแรกเตอร์ อย่างเช่น กาชาปองวันสุนทรภู่ ศิลปินจาก Sloth Doll สร้าง สรรค์ชุดนิราศเกาะแก้ว ในชุดมีพระอภัยมณี ผีเสื้อสมุทร นางเงือก พระฤาษี สินสมุทร สุดสาคร ชีเปลือย ม้านิลมังกร และสุนทรภู่ ฯลฯ ซึ่งสามารถจะนำมาเป็นสื่อประกอบในการเล่าเรื่อง สามารถเชื่อมโยงไปยังโบราณวัตถุที่จัดแสดง อย่างเช่นที่ห้องเครื่องถ้วย มี ชามฝาลายน้ำทองเรื่องพระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อสมุทรจัดแสดง หลายคนอาจไม่ทราบ หรือสามารถสื่อแสดงถึงประวัติสุนทรภู่ โดยท่านรับราชการอยู่วังหน้า โดยสามารถเล่าเรื่องผ่านอาร์ตทอย เป็นต้น”
ส่วนการสร้างสรรค์จะไม่ใช่การถอดแบบจากโบราณวัตถุ ศิลปินจะทำความเข้าใจในเรื่องราวนั้นๆ และนำมาสร้างสรรค์ออกแบบในสไตล์ของศิลปิน นำแรงบัลดาลใจมาจากโบราณวัตถุ นำมาเล่าเรื่องนั้นๆ โดยอาร์ตทอยกับพิพิธภัณฑ์ฯที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้น อย่างเช่น โกลเด้นบอย พิพิธภัณฑ์ฯจัดทำกาชาปองชุดพิเศษ“คืนถิ่น” โดยมี 3 แบบ คือ Golden boy, Deified king, Kneeling Lady นำแรงบัลดาลใจจากโบราณวัตถุ นำมาสร้างสรรค์ผลงาน หรืออย่างล่าสุด 150 ปีพิพิธภัณฑ์ จะเห็นอาร์ตทอยร่วมเล่าเรื่อง และอาร์ตทอยยังเชื่อมโยงไปถึงการสร้างศิลปิน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ ทั้งระหว่างเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ศิลปิน ผู้เข้าชม โดยที่ผ่านมายังส่งต่อแนวคิดขยายไปยังพิพิธภัณฑ์ต่างๆ”
หนึ่งในศิลปินอาร์ตทอยที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ฯ จนัญญา ดวงพัตรา ศิลปินผู้ออกแบบผลงานชุดร้อยพิพิธและคืนถิ่น เล่าถึงการออกแบบว่า การสร้างสรรค์ผลงานจะลดถอนลวดลาย เพื่อให้มองเห็นเข้าใจได้ง่าย อย่างเช่น ธรรมจักรลายผักกูด จากเมืองศรีเทพ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากนำไปลงสีต่อก็ค่อนข้างยาก และจะกลายเป็นการโฟกัสที่ธรรมจักรจนเกินไป จึงนำมาลดทอนรายละเอียด อย่าง เปลวไฟ จะเพิ่มความมลในลวดลาย ออกแบบให้เห็นว่าคือสิ่งนี้ ไม่ได้ทำให้เหมือนกับของจริง
เช่นเดียวกับ ชุดหม้อบ้านเชียง สร้างสรรค์โดยกลับค่า ให้ลวดลายนูนขึ้น โดยถ้าเป็นโบราณวัตถุจะเป็นการวาดลายลงไป อาร์ตทอยจะยังคงความถูกต้องของรูปทรงและข้อมูล ใส่ความขี้เล่น ความน่ารักลงไป เพื่อให้เกิดการเข้าถึงง่ายขึ้น หรืออย่างไห หม้อสามขาจะนำโบราณวัตถุมาเป็นแรงบัลดาลใจ สร้างสรรค์เป็นคาแรคเตอร์ของเรา ทั้งนี้ในทุกชิ้นงานจะมีการ์ดข้อมูลให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย ฯลฯ
อาร์ตทอย ศิลปะในรูปแบบของเล่นยังนำมาเชื่อมโยงกับความรู้หลายแขนง โดยยังคงสร้างสีสันให้กับนักสะสม สร้างความท้าทายให้กับศิลปินผู้สร้างสรรค์ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นส่วนหนึ่งที่บอกเล่าพลังอาร์ตทอย
พลังสร้างสรรค์ที่ยังคงเติบโตที่น่าจับตา .
พงษ์พรรณ บุญเลิศ