สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ว่า ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักโทษอย่างน้อย 198 ราย ในปีนี้ ทำสถิติสูงสุดจากตัวเลข 196 ราย ในปี 2565 และ 192 ราย เมื่อปี 2538 ขณะที่เมื่อปีที่แล้ว มีนักโทษถูกประหารชีวิตทั้งสิ้น 170 ราย ในซาอุดีอาระเบีย

องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประณามซาอุดีอาระเบีย “สังหารผู้คนอย่างไม่หยุดหย่อน” และการลงโทษเช่นนี้รุนแรงเกินไป และไม่สอดคล้องกับความพยายาม ที่จะนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ ๆ บนนเวทีระหว่างประเทศ

ดร.แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า รัฐบาลริยาดเมินเฉยต่อชีวิตมนุษย์อย่างเลือดเย็น พร้อมเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียพักการประหารชีวิต และพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรฐานสากล

น.ส.จีด บาซยูนี หัวหน้ากลุ่มรณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิตในตะวันออกกลาง กล่าวว่า สถิตินี้แสดงให้เห็นว่า ซาอุดีอาระเบียหยุดเสแสร้ง ว่าจะปฏิรูปบทลงโทษประหารชีวิต “คำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นไม่เป็นจริง และตรงกันข้ามด้วยซ้ำ” เธอกล่าว

สำหรับผู้ถูกประหารชีวิตในปีนี้ รวมถึงผู้ต้องสงสัย 32 ราย ในคดีเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และอีก 52 ราย ซึ่งศาลตัดสินว่า มีความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

แม้ว่าตัวเลขก่อนปี 2533 จะไม่ชัดเจน แต่ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่า มีผู้ถูกตัดศีรษะ 63 ราย เมื่อปี 2523 หรือเพียง 1 ปีหลังกลุ่มติดอาวุธอิสลามบุกยึดมัสยิดอัลฮะรอม ในนครเมกกะ

ส่วนการประหารชีวิตหมู่ครั้งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นเมื่อเดือน มี.ค. 2565 ซึ่งในวันเดียวมีผู้ถูกประหารชีวิตถึง 81 ราย

สถิติใหม่นี้เกิดขึ้นท่ามกลางจำนวนโทษประหารชีวิต จากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบียเคยพักการประหารชีวิตนักโทษยาเสพติดเป็นเวลา 3 ปี จนกระทั่งสิ้นปี 2565 ซึ่งทำการประหารนักโทษ 19 ราย ในเดือนเดียว.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES