เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะทำงานที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ว่า ตามที่ ศธ. ได้จัดทำคำของบประมาณปี 2568 จำนวน 7,644,068,100 บาท แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 3,395,466,600 บาท โดยจำนวนงบประมาณในส่วนนี้ที่ถูกตัดออกไปจำนวน 4,148,601,500 บาท ซึ่ง ศธ. ได้จัดทำคำขอแปรญัตติงบประมาณเพิ่มเติมในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแล้ว โดยงบที่ขอแปรญัตติไปนั้น ไม่ได้รับการอนุมัติ แต่เป็นการจัดสรรงบมาให้ในหมวดของการปรับปรุงอาคารเรียนแทน จำนวน 200 ล้านบาท แต่ตนคิดว่าก็ไม่มีความน่ากังวลอะไร ซึ่ง ศธ. คงจะบริหารจัดการได้ภายใต้งบประมาณที่จำกัด ดังนั้นการขับเคลื่อนโครงการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาจะดำเนินการแบ่งออกเป็นเฟสๆ โดยเบื้องต้นในส่วนของการจัดทำแพลทฟอร์มการเรียนรู้นั้น ได้มีการเช่าใช้ระบบซอฟต์แวร์หรือระบบคลาวด์ผ่านบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อเชื่อมต่อทุกระบบให้มารวมเป็นระบบเดียวจะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายของ ศธ. โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นผู้จัดทำแพลตฟอร์มให้

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2568 จะมีการจัดทำร่างทีโออาร์ของการแจกอุปกรณ์การเรียนการสอนของครูและนักเรียน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการได้ไม่เกินเดือน ม.ค. 2568 เพื่อจัดส่งเครื่องอุปกรณ์เสริมการสอนให้แก่ครูและนักเรียนได้ภาคเรียนที่ 1 เดือน พ.ค. 2568 ในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชน โดยการแจกอุปกรณ์เสริมการเรียนการสอนให้แก่ครูและนักเรียนนั้น เราได้ดูตัวอย่างการแจกอุปกรณ์ดังกล่าวของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าโครงการ Global and Innovation Gateway for All (GIGA) หรือโครงการเพื่อการศึกษาด้านดิจิทัลของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น มีการแจกอุปกรณ์ทั้งโน้ตบุ๊ก โครมบุ๊ก และแท็บเล็ต แบ่งการแจกเป็นโซน ภายใต้เงื่อนไขการใช้งานเครื่องแบบเดียวกัน ดังนั้นในส่วนของประเทศไทย จะมาพิจารณาว่าเราจะแจกทุกแพลตฟอร์มให้เป็นแบบเดียวกันหมด หรือแบ่งโซนการแจกอุปกรณ์ว่าจะใช้แพลตฟอร์มอะไร โดยรูปแบบการแจกอุปกรณ์นั้น จะมาพร้อมราคาบวกคุณภาพด้วยการเช่าอุปกรณ์พ่วงระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด