พรรคการเมืองที่ยังต้องบ่วงคดียุบพรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีผู้ร้องว่า รับเงินบริจาคจากนายตู้ห่าว ผู้ประกอบธุรกิจสีเทาที่อื้อฉาว และ พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกร้องยุบพรรค กรณีรับเงินบริจาคจากห้างหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้มูลว่า เป็นบริษัทที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยถือหุ้นอยู่ และทำให้นายศักดิ์สยามขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า สำนวนยุบพรรค พปชร. ยุติไปแล้ว เพราะเงินบริจาคของตู้ห่าว ต้องมีหน่วยงานที่วิเคราะห์ว่าเป็นเงินไม่ถูกกฎหมายก่อน คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจการสอบของ กกต. เมื่อไม่มีหน่วยงานไหนวินิจฉัยว่าเงินนั้นได้จากอะไร กกต.ก็ต้องยุติเรื่องไป
“เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหนึ่งที่มีบริษัทเขาไปฮั้วประมูล และผู้มีอำนาจไม่ให้เงินค่างานเขา ศาลบอกว่าต้องแยกให้ถูก เขาทำงานก็ต้องได้ค่างาน ส่วนที่ฮั้วประมูลไม่เกี่ยวกัน นั่นหมายความว่า เงินค่างาน เป็นเงินที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าคิดดีๆ จะใกล้เคียงว่า เงินที่พรรคการเมืองได้รับจากบริษัทที่ไปทำงานให้หลวง นั่นคือเงินค่างานที่เขาได้รับจากการประมูลงานจากหลวง มี ระบบบัญชีถูกต้อง เงินของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีบริษัทหนึ่งเอาเงินมาบริจาค เงินนั้นคือเงินค่างานที่บริษัทประมูลงานได้ ฮั้วจริงหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ สุดท้ายเขาก็คงเสนอขึ้นมาให้นายทะเบียนพิจารณา”
ซึ่งเรื่องยุบพรรคภูมิใจไทย จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของนายทะเบียนพรรคการเมืองราวกลาง ต.ค.นี้ ถ้ามีมูลส่งต่อให้คณะกรรมการ กกต.จัดการ แต่ฟังเสียงเลขาธิการ กกต.แล้ว ภูมิใจไทยน่าจะรอดบ่วงยุบพรรค
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ศูนย์สำรวจ ความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 3/2567” สำรวจระหว่างวันที่ 16-23 ก.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น 97% เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ในวันนี้ พบว่า 31.35% ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความเป็นผู้นำ และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
23.5% ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 22.9% นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรค ปชน.) เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิด และทัศนคติที่ดี 8.65% ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรค รทสช.) เพราะเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร 4.8% ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะมีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหาร มีจุดยืนในการต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า 34.25% ระบุว่า พรรค ปชน. 27.15% ระบุว่า พรรคเพื่อไทย 15.1% ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ 9.95% ระบุว่าพรรค รทสช. 4.4% ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ 3.55% ระบุว่าพรรคภูมิใจไทย 2.05% ระบุว่า พรรค พปชร. 1.7% ระบุว่า พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.10 ระบุอื่น ๆ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกฯ กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ขอบคุณผลโพล นี่คือกำลังใจในการทำงานของทุกคนในรัฐบาล ช่วงเวลานี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของการพิสูจน์ตนเอง รัฐบาลก็ยังจะต้องมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากขึ้น เพื่อนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักความยากจนและนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศชั้นนำของโลกให้ได้
“น.ส.แพทองธาร และคณะ จะเดินทางไปร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 2-3 ต.ค. 2567 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ตามคำเชิญของเชค ตะมีม บิน ฮะมัด อาล ษานี (Shiekh Tamim Bin Hamad Al-Thani) เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ นายกฯ จะขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ ในช่วงเช้าวันที่ 3 ต.ค.นี้ ในหัวข้อเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาทรัพยากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างประเทศสมาชิก และยังมีหัวข้อสำคัญ “Sports Diplomacy” หรือการใช้กีฬาเพื่อการทูตระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้ ACD เป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชีย
สื่อมวลชนต่างประเทศให้ความสนใจกับผู้นำของประเทศไทยคนใหม่ที่จะเดินทางไปแสดงวิสัยทัศน์เป็นครั้งแรก หลังจากรับตำแหน่ง การประชุม ACD ว่างเว้นเป็นเวลานานถึง 8 ปี จากสถานการณ์โรคระบาด” นายจิรายุ กล่าว
สำหรับทางฝั่ง “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรค ปชน.ที่คะแนนตก กล่าวว่า “รับรู้ และจะนำมาปรับปรุงทำงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่ได้มาเป็นอุปสรรค หรือเสียกำลังใจใด ๆ และบริบททางการเมืองที่ผ่านมา มีทั้งขึ้นทั้งลง คิดว่าวิธีการเดียวที่จะทำให้คะแนนนิยมเรามั่นคงยิ่งขึ้น ดีวันดีคืนไปถึงการเลือกตั้งปี 2570 คือทำงานในพื้นที่อย่างเต็มที่ และ คิดว่า การที่ฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องเมียนมาไม่เกี่ยวกับคะแนนนิยม การที่พรรคชี้แจงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ทำความเข้าใจ รวมถึงทางการทำงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิดประชาชนเป็นส่วนสำคัญมากกว่า”
“คะแนนนิยมลด อาจมาจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ บางพื้นที่ ชาวบ้านยังไม่รับทราบข่าวสาร บางคนยังไม่ทราบว่าผมเป็นหัวหน้าพรรค ปชน. แล้ว ตอนนี้ต้องเข้าหาประชาชน และทำงานในพื้นที่เพื่อให้รับทราบข่าวสารอย่างทั่วถึงที่ต้องสื่อสารต่อลูกพรรคทุกคนคือการเดินหน้าทำงาน และไม่ทิ้งพื้นที่แน่นอน”
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ได้รวบรวมข้อมูลไว้หลายด้าน เป็นไปได้สูงว่าอาจจะยื่นญัตติประมาณช่วงต้นปีหน้า ภายในไตรมาสแรก ซึ่งมีหลายเรื่อง และนโยบายต่าง ๆ ด้วย แต่ที่น่าสนใจคือการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 แบบไม่ลงมติ ได้หารือภายในพรรค ซึ่งอยู่ระหว่างการขอข้อสรุปจากที่ประชุม สส. และมีความเห็นได้ว่าอาจจะยื่นก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นไปได้
ก็ต้องดูทิศทางลมด้วย ถ้าค้านดะจนรัฐบาลไม่มีเวลาทำงาน ภาพลักษณ์ก็ยิ่งแย่ไม่ต่างจาก “นักร้อง” ได้ จะเล่นงานเรื่องไหนต้องมั่นใจว่า ตีโดนกล่องดวงใจ
ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ นายชนินทร์ รุ่งแสง อดีต สส.กทม. รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธาน กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้นกว่า 10% จาก 36 บาทกว่ามาอยู่ที่ 32 บาทกว่าต่อดอลลาร์ รัฐบาลควรใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ให้สินค้านำเข้าลดราคาลง โดยเฉพาะน้ำมันและปุ๋ย
“ต้องติดตามตรวจสอบต้นทุนราคาที่เป็นธรรมเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงาน ถ้า 3 เดือนไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ปีหน้ารัฐนาวานายกฯ คุณหนูอิ๊งค์ สั่นคลอนแน่” นายชนินทร์ กล่าว
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 ต.ค. 67 มีการ รายงานการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคและกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า รายงานดังกล่าวมีประเด็นที่ กมธ.มีความเห็นแตกต่างกันในคดีความผิดตาม ป.อาญา ม.112 ว่าควรนิรโทษกรรมหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมหรือไม่
มีความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ในขณะที่ กมธ.ที่มาจากพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ควรมีการนิรโทษกรรมคดีความผิดตาม ม.112
“เหตุใดการศึกษาของ กมธ. จึงไม่ใช้เสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ใน กมธ.เอง การเสนอข้อสังเกตแบบปลายเปิดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จะหาข้อยุติได้ยากอย่างยิ่ง มิเช่นนั้น สภาจะมีมติให้ตั้ง กมธ.ไปศึกษาเพื่อจัดทำรายงานฯ ทำไม รัฐบาลควรปกป้องสถาบันเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งถอนรายงานไปจัดทำใหม่ให้ได้ข้อยุติในชั้น กมธ.
พรรคไทยสร้างไทยเคยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ม.112 สรุปว่า หากผู้กระทำผิด หรือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดได้สำนึกในการกระทำก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษ หรือขอพระราชทานอภัยแล้วแต่กรณีว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือยัง หากยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด สภาก็ควรเสนอแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยได้เพราะคดีความผิดตาม ม.112 เป็นความผิดอันยอมความมิได้” นายชวลิต กล่าว
เรื่องนิรโทษกรรม ม.112 นี้คงเป็นเรื่องที่ถูกปิดประตูอีกยาว ฝ่ายการเมืองคงไม่กล้าแตะ กลัว “นักร้อง”หาเรื่องเข้าอีก ซึ่งทำอะไรต้องเกรงใจนักร้อง ..เห็นทีการเมืองไทยจะเดินหน้ายาก.
“ทีมข่าวการเมือง”