โดย 2 พรรคเมืองใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย” และ พรรคประชาชน” ต่างชิงไหวชิงพริบยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาเพื่อเอาใจบรรดาด้อม  เพราะเพิ่งเจอมรสุมนิติสงครามมาด้วยกันทั้งคู่ ทั้งการสอยนายกฯ และการยุบพรรค

แต่แล้วเรื่องนี้กลับกลายเป็นเหมือนแค่การโยนหินถามทางเท่านั้น หลังเจอกระแสต้านจากพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค รวมทั้งฝ่ายแค้นนักร้องนอกสภา  ที่ออกมาท้วงว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่และมาตรฐานทางจริยธรรมยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุคคลสาธารณะ จนพรรคเพื่อไทยยูเทิร์นกลับลำ บอกว่าขอไปเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมและเศรษฐกิจก่อนดีกว่า

ฟากพรรคประชาชนเห็นท่าไม่ดี  “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ออกมาย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จุดยืนของพรรคประชาชนคือแก้รายมาตราควบคู่กับการตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ พร้อมเปิด 7 แพกเก็จแก้รัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ได้แก่ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” “เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต” “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน” “ปฏิรูปกองทัพ” “ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา” และ“ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ส่วนในเรื่องปมจริยธรรมนั้นพรรคประชาชนขอ “พักก่อน” เพื่อรอชัดเจนจากพรรคร่วมรัฐบาล จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และไม่ต้องการให้เรื่องนี้ถูกนำมาเป็นประเด็นล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  

ขณะที่ในซีกวุฒิสภาซึ่งจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในวันที่ 30 ก.ย.นี้  ก็เป็นเรื่องขึ้น เมื่อ “นันทนา นันทวโรภาส” สว. พันธุ์ใหม่ ไม้เบื่อไม้เมาของ สว.สายสีน้ำเงิน ออกมาปูดว่าคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ  วุฒิสภา ที่มี “พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว.” เป็นประธานนั้น   กมธ.เสียงข้างมากหนุนเกณฑ์ประชามติโดยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามติ ซึ่งหมายถึงกรณีประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเป็นการพลิกจากร่างเดิมของ สส.

“นันทนา” มองว่าเรื่องนี้มีใบสั่งทางการเมืองรื้อระบบล็อกเสียง 2 ชั้นแน่นอน  หากวุฒิสภาเห็นชอบและมีการตั้ง กมธ.ร่วมกับ สส. ก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยืดเยื้อออกไป ถ้าตั้ง กมธ.ร่วมแล้วตกลงกันไม่ได้ กฎหมายนี้ต้องรอไปอีก 180 วัน กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่เห็นด้วยกับระบบเสียงข้างมากแบบง่าย จะร่วมกันอภิปรายแสดงจุดยืนในวันที่ 30 ก.ย.นี้ แม้รู้ว่าลงมติอย่างไรก็แพ้ แต่ขอแสดงเหตุผลให้ประชาชนทราบ

สุดท้ายต้องจับตาว่ากลเกมในสภาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินไปอย่างไร และใครคือไอ้โม่งที่อยู่ข้างหลังซึ่งจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด.