เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ห้องประชุม Galleris 2-3 ชั้น 5 โรงแรม เอส 31 สุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมรับฟังความคิดเห็นในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 ต่อการพัฒนาโครงการ เรน39 สุขุมวิท 39 (Ren39 Sukhumvit 39) ของบริษัท ชินวะ เอส39 จำกัด เนื่องด้วยบริษัท ชินวะ เอส39 จำกัด มีแนวคิดในการพัฒนาโครงการ เรน39 สุขุมวิท 39 (Ren39 Sukhumvit 39) ซึ่งเป็นอาคารอยู่อาศัยรวม (อาคารชุด) จำนวน 2 อาคาร สูง 7 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น มีห้องชุดพักอาศัย จำนวน 291 ห้อง ห้องชุดเพื่อการพาณิชย์ 1 ห้อง และที่จอดรถยนต์ 136 คัน ประกอบด้วย ที่จอดรถปกติ 132 คัน ที่จอดรถผู้พิการ 4 คน มีพื้นที่ 2-2-88.40 ไร่ หรือ 4,353.60 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 39 (ซอยพร้อมมิตร) ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

โดยได้มอบหมายให้บริษัท ตถาตา สิ่งแวดล้อม จำกัด ให้ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร ในการนี้ บริษัทฯ จึงเชิญผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา การประเมินทางเลือกโครงการ และรับฟังความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลต่อโครงการ โดยมีประชาชน เจ้าของสถานประกอบการ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อน และ สส.เขตวัฒนา พรรคประชาชน เข้าร่วมประชุมและสะท้อนความคิดเห็น

ตัวแทนประชาชน เจ้าของสถานประกอบการ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบ กล่าวสะท้อนข้อกังวลและประเด็นสำคัญต่อบริษัทเจ้าของโครงการฯ และบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม ว่า จากการเตรียมก่อสร้างโครงการดังกล่าวฯ ประชาชนผู้พักอาศัยมีความต้องการคำตอบชี้แจงที่ชัดเจน โปร่งใส ครบถ้วน โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัย เรื่องความกว้างของผิวถนนไม่ถึงเกณฑ์กำหนด 6 เมตร

โดยทางบริษัท Value Asset ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในลิสท์รายชื่อของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และในรายชื่อของสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการสำรวจความกว้างของถนนในซอยพร้อมมิตร ทั้งทางที่จะออกสุขุมวิท 39 หรือสุขุมวิท 49/1 (ทางเข้า-ออกของโครงการ Ren 39) รายงานว่าผิวถนนมีความกว้างไม่ถึง 6 เมตร โดยวัดความกว้างทางออกซอยสุขุมวิท 39 ได้ 5.3 เมตร ขณะที่ทางออกซอยสุขุมวิท 49/1 วัดได้เพียง 5.8 เมตร ดังนั้น แม้ระวางจะระบุความกว้างของผิวถนน 6 เมตร แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันผิวถนนแคบกว่านั้น จึงมีความผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ทั้งนี้ หากมีการก่อสร้างโครงการฯ จนแล้วเสร็จ อาจเสี่ยงถูกรื้อถอนเหมือนกรณีของโรงแรมดิเอทัส (The Atas) ซอยร่วมฤดี 18 จึงประสงค์ให้มีหน่วยงานโดยตรง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

“การใช้ซอยพร้อมมิตรไปถนนสุขุมวิท 39 (เส้นทางหลัก) เนื่องจากเป็นทางเข้าเมืองเพื่อเดินทางไปทำงาน ไม่มีใครใช้เส้นทางสุขุมวิท 49/1 (เส้นทางรอง) เพราะต้องเสียเวลาเพิ่มอีกอย่างน้อย 30 นาที ทำให้เกิดอันตรายต่าง ๆ เช่น รถดับเพลิงจะเข้ามาถึงที่เกิดเหตุล่าช้าเพราะถนนเส้นทางหลักมีความกว้างเพียง 5.3 เมตร ถึงแม้เส้นทางรอง หรือสุขุมวิท 49/1 จะกว้างกว่า แต่โดยปกติแล้ว คนจะไม่ใช้กัน ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะขยายเส้นทางหลักตรงบริเวณที่แคบที่สุดอย่างไร“ ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจากการก่อสร้างโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษประเภทใดก็ตาม เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่จะส่งผลต่อการเป็นโรคสมองพิการ (CDPD) โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดตัน โรคมะเร็ง โรคภูมิและอื่น ๆ รวมถึงยังตั้งข้อสอบถามว่าทางโครงการฯ จะรับผิดชอบอย่างไร หากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องประสบปัญหาการเจ็บป่วย ประเมินความหนักเบาของอาการเจ็บป่วยอย่างไร และจะเยียวยาชดเชยค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลอย่างไร

อีกทั้งระยะการดำเนินการก่อสร้างจะใช้เวลาตั้งแต่เวลากี่โมงและปิดไซต์งานก่อสร้างอย่างไร เพราะประชาชนผู้พักอาศัยต้องเดินทางกลับจากที่ทำงานเพื่อเข้าที่พักในช่วงเย็น หรือเด็กนักเรียนเลิกเรียนกลับบ้าน ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับการก่อสร้าง ทั้งที่โดยปกติแล้วกว่าจะเดินทางถึงที่พักก็ใช้เวลานาน และถ้าหากในกรณีที่มีผู้ประสบอาการเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุกระทันหันจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในบริเวณใกล้เคียง จะเดินทางออกไปทันท่วงทีโดยไม่ประสบปัญหาติดขัดเรื่องจราจรได้อย่างไร อยากให้มีการประเมินสภาพการจราจรก่อนก่อสร้างโครงการด้วย ยังไม่นับรวมวันที่ฝนตกหนัก น้ำท่วมขังรอการระบาย ทั้งนี้ อยากให้มีการลงประเมินสภาพการจราจรทุกวัน ไม่ใช่เพียง 2 วัน จะได้รู้ผลกระทบของคนในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ การก่อสร้างโครงการฯ สูง 7 ชั้น อาจส่งผลกระทบต่อการบดบังแสงอาทิตย์มายังบ้านผู้พักอาศัยใกล้เคียง ทำให้แสงแดดสาดส่องมาไม่ถึงบริเวณที่ปลูกต้นไม้ ขอให้หาแนวทางแก้ไขด้วย

ทางตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ กล่าวด้วยว่า อยากให้ทางโครงการฯ ได้มีมาตรการแก้ไขชี้แจงให้ชัดเจนในกรณีที่ผู้รับเหมาไม่ปฏิบัติตามการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะเมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นมักมีการตีมึน ขาดเจ้าภาพตัวจริงในการรับผิดชอบ และขอให้มีการบันทึกรายงานการประชุมครบทุกถ้อยคำ ไม่ตัดทอนคำพูดใดของผู้ได้รับผลกระทบ บันทึกสรุปให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้เห็นข้อกังวลอย่างชัดเจน และยังมีการร่วมกันประเมินแบบลงคะแนนความคิดเห็น 7 ข้อสำคัญ ได้แก่ ประเด็นกฎหมาย ระเบียบ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ประเด็นการจราจร ประเด็นฝุ่นละออง ประเด็นมลพิษทางเสียง ประเด็นเศรษฐศาสตร์ ประเด็นสาธารณูปโภค การตอบคำถามเรื่องสาเหตุที่มีสถานบันเทิงตั้งอยู่บนที่ดินของโครงการ และประเด็นความมั่นคงทางการเงินของบริษัทเจ้าของโครงการฯ เพื่อสรุปว่ามีความเห็นชอบในการสนับสนุนโครงการมากน้อยเพียงใด

ด้าน บริษัท ตถาตา สิ่งแวดล้อม จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม ของโครงการ เรน39 สุขุมวิท 39 (Ren39 Sukhumvit 39) ของบริษัท ชินวะ เอส39 จำกัด กล่าวชี้แจงว่า ทางเรายินดีรับฟังข้อกังวลผลกระทบจากผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงโครงการก่อสร้างฯ เพื่อนำความคิดเห็น ข้อกังวลทั้งหมดไปจัดทำสรุปรายงานชี้แจงเพื่อนำเสนอถึงมาตรการการแก้ไขให้ผู้ได้รับผลกระทบรับทราบต่อไป วันนี้ถือเป็นการดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน (EIA and Public Participation process) โดยในรายละเอียดสำคัญและข้อสอบถามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของการวัดความกว้างผิวถนนในซอยพร้อมมิตรทั้งซอยสุขุมวิท 39 และสุขุมวิท 49/1 ยืนยันว่าได้ว่าเราได้มีการส่งหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับของหน่วยงานผ่านหนังสือมาดำเนินการลงพื้นที่วัดความกว้างของถนน ส่วนในเรื่องของสภาพอากาศและมลพิษทางเสียงหากมีการก่อสร้าง โดยโครงการฯ จะทำการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศและเครื่องตรวจวัดระดับเสียง ส่วนกรณีการทำงานของผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ จะมีการทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนในเวลา 17.00 น. จะเป็นการเก็บไซต์งานก่อสร้าง

ทั้งนี้ หากจะมีการก่อสร้างล่วงเวลา จะเกิดขึ้นในกรณีของการเทปูนฐานราก โดยทาง สผ. จะต้องเป็นผู้กำหนด พร้อมย้ำว่าเราจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงประจำบริเวณไซต์งานก่อสร้าง เพื่อดูสภาพการจราจรภายในซอย จะได้ทราบถึงปัญหาสภาพปัญหาการจราจรระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ ได้อย่างรอบด้าน ว่าส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยและสัญจรอย่างไร ทั้งจะได้พิจารณาจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการพัฒนาโครงการฯ ต่อไป.