เมื่อวันที่ 27 ก.ย.จากกรณี ฟาง เหวินหลิน (Fang Wen Lin) วัย 59 ปี นักร้องนักแสดงหญิงชื่อดังชาวไต้หวัน ได้โพสต์อินสตาแกรม กรณีเธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหลอดอาหารในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนั้น วันนี้เดลินิวส์ออนไลน์ ได้นำสาระดีๆเกี่ยวกับสาเหตุมะเร็งหลอดอาหารมาให้ได้ป้องกันกัน

โดยบทความจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ระบุว่า

4 พฤติกรรมเพิ่มความเสี่ยง มะเร็งหลอดอาหาร ?

สารพัดความเชื่อที่ว่ากันว่าทำให้เสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร ความเชื่อเหล่านี้จริงเท็จแค่ไหน

ความเชื่อที่ 1 เป็นโรคกรดไหลย้อน ปล่อยไว้ไม่รักษา

ความเชื่อนี้จริง เพราะกรดไหลย้อนทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดของเซลล์ขึ้น จากเซลล์ปกติที่มีลักษณะคล้ายผิวหนังกลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ หน้าตาคล้ายลำไส้ หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารได้ถึง 30-60 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ เมื่อเป็นกรดไหลย้อนระยะเริ่มต้น คนไข้จะมีอาการอืดแน่นท้อง เรอเปรี้ยว ขมในคอ แต่หากปล่อยไว้จนกระทั่งเป็นมะเร็งหลอดอาหารมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กลืนติด กลืนลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

ความเชื่อที่ 2 สูบบุหรี่

ความเชื่อนี้จริง ไม่เฉพาะบุหรี่เท่านั้นที่เพิ่มความเสี่ยง มะเร็งหลอดอาหาร แต่การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน ในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งหลายชนิดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวผิดปกติ ส่วนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็เป็นพิษต่อเซลล์จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่มะเร็งได้ในหลายอวัยวะ หากเป็นไปได้ควรลด ละ เลิกบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว

ความเชื่อที่ 3 กินอาหารร้อน ๆ

ความเชื่อนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด โดยปกติการกินอาหารร้อนอาจทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารเกิดการอักเสบ และอาจก่อมะเร็งได้ การศึกษาจำนวนมากพบว่าคนไข้ มะเร็งหลอดอาหาร มีประวัติกินของร้อน หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นมะเร็งชนิดนี้ และด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงกลายเป็นอาหารที่หลายคนเลือกกินเพื่อประหยัดเวลา ซึ่งโดยปกติมักจะกินตอนร้อน ๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการกินอาหารร้อนเป็นปัจจัยของมะเร็งชนิดนี้จริงหรือไม่ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ความเชื่อที่ 4 กินอาหารสำเร็จรูป

ความเชื่อนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด เพราะยังไม่มีข้อมูลที่มากพอแม้ว่าในความเป็นจริงอาหารแปรรูปอาจทำให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร แต่ปัจจุบันยังไม่พบความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งหลอดอาหารที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เราควรกินอาหารที่มีประโยชน์ สุก สะอาด ในปริมาณที่พอดี หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร

นอกจากการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการเป็นโรคกรดไหลย้อนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งชนิดนี้แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ความอ้วน เพราะความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อนที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งหลอดอาหาร อีกทั้งความอ้วนยังเกิดจากพฤติกรรมของคนเราที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การกินอาหารหวาน มันมากขึ้น การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ไม่ออกกำลังกาย

การตรวจวินิจฉัย มะเร็งหลอดอาหาร

การตรวจวินิจฉัยโรคสามารถทำได้หลายวิธี

การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร เป็นการส่องกล้องเข้าไปทางปาก เพื่อตรวจดูบริเวณหลอดอาหาร หากพบความผิดปกติ หมอจะตัดชิ้นเนื้อแล้วส่งตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป

การกลืนแป้งแบเรียม คนไข้ต้องกลืนแป้งแบเรียมเข้าไป เป็นสารทึบรังสีที่ทำหน้าที่เคลือบผนังส่วนต่าง ๆ ของอวัยวะ แล้วเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่บริเวณลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ไปจนถึงส่วนต้นของลำไส้เล็ก เพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการตรวจที่ช่วยให้หมอเห็นตำแหน่งของโรค และการกระจายของโรคได้ละเอียดกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา เพราะเป็นการแสดงภาพแบบ 3 มิติ

การรักษามะเร็งหลอดอาหาร

ปัจจุบันมีการรักษาอยู่ 3 วิธี หมอจะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรค และสภาพร่างกายของคนไข้ ดังนี้

การผ่าตัด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดนำเนื้องอกที่มีขนาดเล็กมากออกไป การผ่าตัดหลอดอาหารออกบางส่วน และการผ่าตัดต่อหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร แต่วิธีนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ติดเชื้อ มีภาวะเลือดออก หรือเลือดไหลจากจุดที่ผ่าตัดเข้าสู่กระเพาะอาหาร

การทำเคมีบำบัด อาจใช้ก่อนหรือหลังการผ่าตัด สามารถใช้รักษาร่วมกับการฉายแสง หรืออาจรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเดียว หากคนไข้เป็นมะเร็งระยะลุกลาม และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

การฉายแสง เป็นการรักษาด้วยรังสีพลังงานสูง สามารถใช้บรรเทาภาวะแทรกซ้อนของคนไข้ที่มะเร็งลุกลาม แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวหนังสีเข้มขึ้น ปวดขณะกลืนอาหาร กลืนลำบาก และอวัยวะใกล้อาจเคียงเกิดความเสียหาย

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพให้ห่างไกล มะเร็งหลอดอาหาร

การดูแลรูปร่างให้สมส่วน ให้มีน้ำหนักตัวที่พอดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้

แม้มะเร็งหลอดอาหารจะเป็นมะเร็งที่พบได้มากในทั่วโลก แต่ปัจจัยสำคัญของโรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเรา ซึ่งหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ และรีบพบหมอแพทย์ทันทีเมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรค และเพิ่มโอกาสในการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ขอบคุณบทความจาก รพ.รามาธิบดี ขอบคุณภาพจากรพ.เวชธานี