นางสาวราอูชัน เยสบูลาโตวา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย กล่าวว่าในฐานะดินแดนที่รวมความแตกต่างทางชาติพันธุ์ สาธารณรัฐคาซัคสถานตระหนักถึงความสำคัญที่แท้จริงของสันติภาพและความมั่นคง และเมื่อเราประสบความสำเร็จในการสร้างความสามัคคีในประเทศของเรา คาซัคสถานจึงขอเป็นตัวแทนนานาประเทศในสังคมโลกในการจัดการประชุมสุดยอดสองงานคือ การประชุมสภาผู้นำศาสนาสำคัญของโลก (Congress of Leaders of World and Traditional Religions) และ การประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia: CICA) ซึ่งทางเราคาดหวังให้มิตรประเทศเข้าร่วมและมองเห็นความสำคัญเช่นเดียวกับเรา

การประชุมสภาผู้นำศาสนาสำคัญของโลก หรือ Congress of Leaders of World and Traditional Religionsเริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2546 โดยการริเริ่มของนายนูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐคาซัคสถาน ภายใต้วัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสันติภาพและความร่วมมือร่วมใจ ตลอดจนเสริมสร้างการยอมรับในความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา ผ่านการสร้างความเข้าใจ การรับฟัง และการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาระหว่างตัวแทนด้านวัฒนธรรมและศาสนาจากทั่วโลก ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการประชุมสุดยอดนี้คือ การมุ่งสร้างความเคารพและการยอมรับระหว่างศาสนา ความเชื่อ ชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดย การประชุมสภาผู้นำศาสนาสำคัญของโลก ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้วรวม 6 ครั้ง นับจากปี พ.ศ. 2546, พ.ศ. 2549, พ.ศ. 2552, พ.ศ. 2555, พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2561 ณ เมืองนูร์-ซุลตัน (อัสตานา) โดยมีผู้นำและ,ตัวแทนศาสนา เช่น อิสลาม คริสเตียน ยูดาห์ พุทธ ชินโต เต๋า ฮินดู และศาสนาดั้งเดิมอื่น ๆ ตลอดจนองค์กรนานาชาติ เข้าร่วมงานมากมาย”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมเลขาธิการครั้งที่ 9 เพื่อยืนยันวาระการประชุมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นใน การจัดประชุมสภาผู้นำศาสนาสำคัญของโลก ครั้งที่ 7 โดยมีตัวแทนศาสนาโลกและความเชื่อต่าง ๆ จาก 20 ประเทศ ตลอดจนตัวแทนจากองค์กรนานาชาติเข้าร่วม ทางด้านองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก มีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมคือ ดร. ธเนศ สุจารีกุล ซึ่งคณะเลขาธิการได้กำหนดให้ การประชุมสภาผู้นำศาสนาสำคัญของโลก ครั้งที่ 7 จัดขึ้นในวันที่ 14-15 กันยายน 2565 ณ เมืองนูร์ซุลตัน (อัสตานา) โดยวาระหลักของการประชุมครั้งหน้า จะเน้นสาระสำคัญของบทบาทที่ผู้นำศาสนาสำคัญของโลกมีต่อการพัฒนาสังคมและจิตวิญญาณของมนุษยชาติหลังโรคระบาดสิ้นสุด

การประชุมสุดยอดระหว่างนานาประเทศที่สำคัญอีกเวทีหนึ่งคือ “การประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย” หรือ Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA) ซึ่งริเริ่มโดยนายนูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐคาซัคสถาน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า สันติภาพและความปลอดภัยในภูมิภาคเอเชียสามารถบรรลุได้ด้วยกลยุทธ์แบบพหุภาคีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจอันดี โดยประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมภายใต้ความมุ่งหวังจะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติ เสรีภาพและความเจริญรุ่งเรืองในหมู่ประชาชน

การประชุม CICA Summit จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ เมืองหลวงนูร์-ซุลตัน โดยการประชุม CICA Summit จะจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ ความมั่นใจและมิตรภาพในภูมิภาค ซึ่งการประชุมสุดยอดนี้ จะทบทวนความก้าวหน้าและลำดับความสำคัญของงานที่อยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของ CICA ตลอดจนจัดการประชุมเพื่อหารือในวาระสำคัญ โดย CICA มีประเทศสมาชิกรวม 27 ประเทศ หรือเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของอาณาจักรและประชากรในเอเชีย นอกจากนี้ CICA ยังได้รับเกียรติจาก 9 ประเทศและ 5 องค์กรนานาชาติ เช่น United Nations ในการร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิก

ด้วยความหลากหลายของสถานการณ์ในประเทศสมาชิก มาตรการในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศจะมุ่งเน้นความท้าทายและภัยคุกคามในยุคสมัยใหม่ ตลอดจนประเด็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ และเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของ CICA ใน 5 มิติสำคัญคือ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านมนุษย์ ความท้าทายและภัยคุกคาม และมิติด้านการทหาร-การเมือง โดยการประชุมสุดยอด CICA Summit นี้ มีโครงสร้างการประชุมหลายชั้น ตั้งแต่การประชุมระดับรัฐมนตรี การประชุมคณะทำงานพิเศษ การประชุมผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงการประชุมเฉพาะในประเด็นพิเศษ

“คาซัคสถาน เป็นดินแดนที่สันติภาพ ความเคารพและความเข้าใจอันดีระหว่างตัวแทนความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ นั้นได้มาด้วยสันติวิธี ในฐานะรัฐบาลอันเที่ยงธรรมที่บรรลุผลสำเร็จด้วยกลยุทธ์ภูมิรัฐศาสตร์ ในปัจจุบัน คาซัคสถานกำลังเติบโตอย่างงดงามด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ-สังคม และมีอนาคตที่สดใสรออยู่ ในวันข้างหน้า โดยคาซัคสถานพร้อมก้าวสู่โลกกว้างและเป็นหนึ่งในแรงผลักดันการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สันติภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคงในภูมิภาคของเรา” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย กล่าวสรุป