เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูง กำชับให้เร่งสำรวจความเสียหายจากอุทกภัย โดยให้ประสานกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปความเสียหายและเร่งช่วยเหลือเยียวยา เร่งดำเนินการช่วยเหลือผ่านศูนย์ป้องกันภัยในจังหวัด

โดยนางนฤมล ย้ำให้ต้องเร่งลงพื้นที่ที่น้ำท่วม อย่าให้เกิดดราม่าเหมือนหลายปีที่ผ่านมา น้ำท่วมปีนี้ชดเชยปีหน้า ซึ่งตามกฎหมายเมื่อเกิดอุทกภัย ต้องชดเชย เยียวยาให้เกษตรกรภายใน 60 วัน เรื่องนี้อยากให้ลดระยะเวลาจาก 60 วัน ให้เหลือไม่เกิน 45 วัน และนอกจากนั้น กรณีการช่วยเหลือเป็นปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์พืช เป็ด ไก่ เป็นไปได้ไหม ให้จ่ายชดเชยเป็นเงินสดแทน เรื่องนี้ต้องประสานกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ที่สำคัญต้องดูแลผู้ที่ประสบภัยพิบัติ ดูเรื่องอาหารการกิน เรื่องน้ำ ให้ไปช่วยเหลือเร่งประสานหน่วยงานในกระทรวงที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ระดมไปช่วยในพื้นที่ที่มีดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะกรมพัฒนาที่ดิน หน่วยงานที่มีเครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรเข้าไปช่วยพื้นที่ให้กลับมาสู่สภาพปกติอย่างเร็วที่สุด 

นายเอกภาพ ระบุ กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำว่า ประมาณปลายเดือน ก.ย. ต้นเดือน ต.ค. 67 จะมีพายุลูกใหม่เข้าในช่วงตอนกลางของประเทศ หรือประมาณจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพายุที่มาช่วงตอนกลางของประเทศ ไม่น่ากังวล เพราะในภาคอีสาน ทั้งในแถบลำตะคอง มีน้ำเพียง 28-30% ของความจุเขื่อน และอีกหลายเขื่อนยังมีปริมาณน้ำไม่มาก หากพายุเข้ามาจะช่วยเติมน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า

ส่วนสถานการณ์น้ำในภาคเหนือขณะนี้ สถานการณ์น้ำในเขื่อนมีไม่มาก ประมาณ 50% ของความจุเขื่อน หากฝนตกในจังหวัดเชียงใหม่ มีแม่น้ำปิง น้ำก็จะไหลลงเขื่อนภูมิพล ที่ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำอยู่จำนวนมาก หากมีการผันน้ำลง สำหรับฝนที่ตกและไหลลงแม่น้ำน่าน น้ำจะไหลลงเขื่อนกิ่วคอหมา แต่ยอมรับว่าสำหรับแม่น้ำยม จุดนั้นไม่มีเครื่องมือสำหรับรองรับน้ำ

โดยล่าสุด กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ โดยเพิ่มการระบายน้ำเจ้าพระยา จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,050 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 1,300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อรองรับน้ำเหนือที่จะมาสมทบในไม่ช้านี้ ส่วนแก้มลิงบางระกำ ยังสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 2-3 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวินาที