สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ว่า ตามคำฟ้องที่กระทรวงยุติธรรมยื่นต่อศาลรัฐบาลกลางในรัฐนิวยอร์ก ธุรกิจของวีซ่าส่งผลให้ผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศ ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32,698 ล้านบาท)

“แม้ว่าวีซ่าจะเป็นชื่อแรกที่ผู้ใช้บัตรเดบิตจำนวนมากเห็น เมื่อหยิบบัตรออกมาซื้อของ แต่ผู้ใช้ไม่เห็นบทบาทของบริษัทในเบื้องหลัง” นายเมอร์ริค การ์แลนด์ รมว.ยุติธรรมสหรัฐ กล่าวเสริม “วีซ่าควบคุมเครือข่ายที่ซับซ้อนของผู้ค้า, สถาบันการเงิน และผู้บริโภค และผูกขาดด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแอบแฝง จากธุรกรรมนับล้านล้านรายการ”

คำฟ้องอ้างว่า วีซ่าเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรเดบิตในสหรัฐราว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 261,520 ล้านบาท) ขณะที่ในระดับโลก วีซ่ามีรายได้จากบัตรเดบิตรวม 12.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 402 ล้านล้านบาท)

รัฐบาลวอชิงตันระบุว่า ตลาดของบัตรเดบิตคือผู้ที่อายุน้อยและร่ำรวยน้อยกว่า ซึ่งประสบปัญหาค่าครองชีพสูง “วีซ่าสร้างภาระให้กับกับชาวอเมริกันที่ฐานะยากจน ซึ่งต้องรับผลกระทบจากราคาที่สูงอย่างไม่สมส่วน” นายเบนจามิน ซี. ไมเซอร์ รมช.ยุติธรรมสหรัฐ กล่าว

เพื่อผูกขาดธุรกิจบัตรเดบิต วีซ่ากำหนดข้อตกลงที่กีดกันกับผู้ค้าและธนาคาร โดยลงโทษลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายที่แตกต่างกัน หรือระบบการชำระเงินทางเลือก

นอกจากนั้น กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอ้างว่า บริษัทกำจัดการแข่งขันที่อาจเกิดขึ้นจากบริษัทเทคโนโลยี และสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีการเงิน ด้วยการตกลงเป็นหุ้นส่วน แทนที่จะปล่อยให้พวกเขาแข่งขันกันโดยตรง

มากไปกว่านั้น วีซ่ากำหนดข้อตกลงปริมาณธุรกรรม ซึ่งออกแบบมาเพื่อจำกัดไม่ให้ผู้ค้าและธนาคารใช้บริการคู่แข่ง แม้บริษัทแห่งอื่นจะเสนอราคาที่ต่ำกว่าก็ตาม ด้วยเหตุนี้ วีซ่าจึงสามารถรักษา “ป้อมปราการขนาดใหญ่” ของตนไว้ เพื่อทำกำไรมหาศาล

ในแถลงการณ์ น.ส.จูลี ร็อตเทนเบิร์ก ที่ปรึกษาทั่วไปของวีซ่า ชี้แจงว่า ทั้งหมด “ไม่มีมูลความจริง” และปฏิเสธข้อเรียกร้องเรื่องการผูกขาด โดยอธิบายว่า ตลาดบัตรเดบิตเป็นจักรวาลที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสนอวิธีการใหม่ ๆ ในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ “เมื่อธุรกิจและผู้บริโภคเลือกวีซ่า อาจเป็นเพราะเครือข่ายที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ของเรา, การป้องกันการฉ้อโกงระดับโลก และประสิทธิภาพที่เรามอบให้” เธอกล่าว.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES