กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ที่มีการปลูกข้าว ประกอบกับในตอนกลางคืนมีความชื้นสูง กลางวันอากาศร้อนเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคไหม้ข้าว ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง ลักษณะอาการของโรคไหม้ข้าว สามารถพบได้ในหลายระยะการเจริญเติบโตของข้าว ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ

ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ ระยะออกรวง ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก มักเรียกว่า โรคไหม้คอรวง หรือ โรคเน่าคอรวง การแพร่ระบาด พบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม หากใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงและมีสภาพแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน ในพื้นที่ที่มีน้ำค้างยาวนานถึงตอนสายเวลาประมาณ 09.00 น. หรืออากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 22-25 °C อีกทั้งกระแสลมแรงจะเป็นตัวช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี

การป้องกันกำจัดโรค ควรใช้พันธุ์ค่อนข้างต้านทานโรค ในภาคกลาง ได้แก่ ปราจีนบุรี 1 พลายงาม ข้าวเจ้าหอมพิษณุโลก 1 เป็นต้น ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ข้าวเจ้าหอมพิษณุโลก 1 สุรินทร์ 1 เหนียวอุบล 2 สันปาตอง 1 และ กข33 เป็นต้น และภาคใต้ เช่น ดอกพะยอม และ กข55 เป็นต้น สำหรับ ข้อควรระวัง ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 60 และชัยนาท 1 ที่ปลูกในภาคเหนือตอนล่าง พบว่า แสดงอาการรุนแรงในบางพื้นที่ และบางปี โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เช่น ฝนพรำ หรือหมอก น้ำค้างจัด อากาศเย็น ใส่ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น หรือเป็นดินหลังน้ำท่วม

นอกจากเลือกพันธุ์ที่ดีแล้ว ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล (tricyclazone) คาซูกาไมซิน (kasugamycin) คาร์เบนดาซิม (carbendazim) โพรคลอราซ ตามอัตราที่ระบุในฉลาก จากนั้นหว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม คือ 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการระบายถ่ายเทอากาศดี และไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป ถ้าสูงถึง 50 กิโลกรัม/ไร่ โรคไหม้จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เกษตรกรควรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคไหม้ข้าวควรพ่นเชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับทีลิส) อัตราตามที่ระบุในฉลาก หรือพ่นเชื้อไตรโครเดอร์มา อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร

สำหรับแหล่งที่เคยพบโรคไหม้ข้าว พบแผลที่เกิดจากโรค 2-3 แผลต่อใบ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล (tricyclazone) คาซูกาไมซิน (kasugamycin) อีดิเฟนฟอส ไอโซโพรไทโอเลน (isoprothiolane) คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ตามอัตราที่ระบุในฉลาก