ขณะที่พวกเรากำลังพยายามช่วยกันแก้ปัญหาที่กลางนํ้า และปลายนํ้า เช่นการเพิ่มพื้นที่ป่า การจัดการเมืองสะเทินนํ้าสะเทินบก การเตือนภัย และช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยพูดถึงคือ “ต้นนํ้า นั่นคือการปลดปล่อยคาร์บอนรายบุคคล เราเคยรู้ไหมว่าเราปล่อยคาร์บอนปีละกี่ตัน เรานี่คือต้นตอการทำร้ายโลก

นํ้าท่วมทุกครั้งชาวบ้านก็ตั้งวงคุยกันเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ป่าที่เราเคยมีหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งทุกคนก็รู้ดี แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนลุกขึ้นมาปลูกป่าอย่างจริงจัง มีแต่ทำเป็นอีเวนต์ เพื่อ PR ประชาสัมพันธ์

นักวิชาการผังเมือง ก็ปัดฝุ่นงานวิจัยการออกแบบเมืองเพื่อความยั่งยืน มีทั้งข้อเสนอให้พัฒนาผังเมืองใหม่ เพิ่มพื้นที่รับนํ้า พื้นที่ชุ่มนํ้า สวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้ในเมือง ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับอาคารสมัยใหม่ที่ต้องมีพื้นที่เก็บชะลอนํ้า และการจัดระบบนิเวศเมืองใหม่ ให้เป็นเมืองสะเทินนํ้าสะเทินบก รอพ่อเมืองต่าง ๆ นำงานวิจัยมาทำให้เกิดขึ้นจริง

นักวิชาการด้านนํ้าก็ออกมาวิเคราะห์จำนวนฝนที่ตก แนะนำวิธีการจัดการนํ้าว่าควรผันไปทางไหน ไปชะลอเก็บไว้ที่ใด แนะนำว่าพื้นที่ไหนควรอพยพ และเฝ้าระวัง แต่พูดกันมาหลายปีก็ยังไม่มี War Room นํ้าที่มี Data ชัดเจนแบบ Real Time เสียที ต้องรอการรายงานมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ตามระบบราชการ

อาสาสมัครกู้ภัยต่างลงพื้นที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ และก็บ่นกันเหมือนเดิมเรื่องความรวดเร็วของระบบราชการที่ต้องสั่งการจากบนลงล่างทีละขั้นทีละตอนด้วยหนังสือราชการ ระบบเตือนภัยที่เหมือนมีแต่ไม่มี ระบบสื่อสารที่ทางราชการบอกว่าได้ประกาศสื่อสารไว้แล้วใน Website และ Page ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีคนติดตามอยู่ไม่กี่ร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของหน่วยงานนั้น ๆ ในแต่ละพื้นที่ยังขาด Single Command และขาดข้อมูลที่จำเป็นที่ทันเวลา

เราอยากเห็นภาพผู้นำในจังหวัดต่าง ๆ ผู้ว่าราชการ ออกมาบัญชาการ และสื่อสารสาธารณะเพื่อแก้วิกฤติ ทำให้เป็นเรื่องเร่งด่วน สื่อสารว่าวันนี้ทีมไหนจะทำอะไรบ้าง มีแผนอย่างไร มีอะไรแล้ว และยังขาดอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง และต้องการจิตอาสาแบบไหน และควรมีรายงานความคืบหน้าทุกวัน คล้าย ๆ ตอนน้อง ๆ หมูป่าติดถํ้า

ในระหว่างที่เรื่องราวความเดือดร้อนเดิม ๆ ปัญหาเดิม ๆ คำบ่นเดิม ๆ และวิธีแก้ไขปัญหาเดิม ๆ ดำเนินไป นักวิชาการอุตุนิยมวิทยาก็โยนคำใหม่มาให้เราตกใจขึ้นไปอีก เขาบอกว่าตอนนี้ฝนตกไม่เหมือนเดิมแล้ว เวลาคำนวณทิศทางลม ความเร็วลม ร่องความกดอากาศ และความชื้นสะสม ก็ยังทำนายพฤติกรรมของฝนยุคใหม่ได้ยาก สมัยนี้ฝนมักจะตกเป็นกระจุก ไม่กระจาย จะสะสมความชื้นมาก
กว่าเดิม แล้วทิ้งบอมบ์เป็นจุด ๆ ยาวนาน เขาเรียกฝนแบบนี้ว่า Rain Bomb จะกระหนํ่าลงมา ก่อให้เกิดมวลนํ้าสะสมรอระบายจำนวนมาก กลายเป็นนํ้าท่วมฉับพลันขนาดใหญ่ ท่วมขังเป็นเวลานาน สร้างความเสียหายในบริเวณนั้น ๆ อย่างคาดเดาไม่ได้

Rain Bomb ไม่ใช่เป็นแค่ระเบิดฝน แต่ที่จริงแล้วนี่คือ Time Bomb ระเบิดเวลา ที่มาเตือนเราว่า เราทำร้ายโลกมากเกินไปแล้ว เราไม่เพียงสร้างเมือง สร้างที่อยู่อาศัยต่าง ๆ อย่างไม่เคารพธรรมชาติ เรายังตัดไม้ทำลายป่าไปกว่าครึ่งโลก ป่าไม้เป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติ ซึ่งตอนนี้เครื่องฟอกอากาศของเราเหลือน้อยลงทุกที

ยิ่งกว่านั้น เรายังปล่อยคาร์บอนกันอย่างเต็มที่ รู้หรือไม่ว่าเพื่อไม่ให้โลกของเราหายนะ ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น 1.5 องศา ประชากรโลกทุกคนจะต้องไม่ปล่อยคาร์บอนเกิน 2 ตันต่อปี

ผมสังเกตจากคนที่ผมรู้จัก น้อยคนจะสนใจเรื่องการคำนวณคาร์บอนที่ปล่อยอย่างจริงจัง แทบไม่มีใครรู้เลยว่าตัวเองปล่อยคาร์บอนเท่าไร ไม่มีการวางแผนที่จะลด และส่วนที่เกินก็ไม่ได้หาวิธีที่จะชดเชย จะมีก็เพียงนักวิชาการบางท่านในสายความยั่งยืน และน้อง ๆ นักศึกษาบางมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์สอนและฝึกฝนไว้ จะเริ่มเคร่งครัดในเรื่องนี้

คนเมืองอย่างเราน่าจะปล่อยคาร์บอนราว 5-10 ตันต่อปี เพื่อน ๆ เราที่อยู่ในเมืองใหญ่ในประเทศที่เจริญแล้วจะปล่อยราว 12-18 ตันต่อปี มากกว่าเราหลายเท่า แต่เพื่อน ๆ ของเราในชนบทปล่อยเพียง 0.5-1.5 ตันต่อปี แต่เมื่อเกิดภาวะโลกเดือด เกิดมรสุม เกิด Rain Bomb เกิดวิกฤตินํ้าท่วม เพื่อน ๆ เราในชนบทจะเดือดร้อนมากกว่าคนเมืองหลายเท่า เป็นความเหลื่อมลํ้าที่มาจากวิกฤติโลกเดือด

นอกจากต้องรีบช่วยกันปลูกป่าแล้ว ต้องรีบคำนวณคาร์บอนส่วนตัวให้เป็น ต้องรู้ ต้องลด และต้องชดเชย เพื่อไม่ให้โลกของเราวิกฤติไปมากกว่านี้ … ก่อนที่ Rain Bomb จะกลายเป็น Time Bomb.