ในรอบปีที่ผ่านมามีรายงานข่าวจับกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงผู้บริหารในระดับสูง เรียกรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ซึ่งเข้าข่ายผิด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 เพราะอาจนำไปสู่การทุจริตในรูปแบบของการรับสินบน โดยใช้อำนาจหน้าที่หรือใช้ดุลพินิจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่ให้ทรัพย์สิน

ทั้งนี้ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสามารถกระทำได้ ดังนี้ การรับโดยธรรมจรรยา มีกฎหมายรองรับ คือ การรับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติ โดยมูลค่าเหมาะสมตามฐานะของผู้ให้ ส่วนการรับจากคนที่ไม่ใช่ญาติ ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับไว้ และต้องรายงานต่อผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานทราบ

“เมื่อมีการรับทรัพย์สินที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ จะมีความผิดทันที โดยที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นจะใช้หรือไม่ใช้อำนาจหน้าที่ก็ตาม แต่หากเป็นการรับเพื่อการกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่นั้น ๆ ก็จะเป็นความผิดในเรื่องของการรับสินบนได้ เช่น การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามฯ”

ตัวอย่าง นาย ก. เจ้าพนักงาน ของรัฐใช้อำนาจในตำแหน่งโดยชอบ ว่าจ้างนาย ข. เป็นผู้ก่อสร้างอาคารให้แก่ทางราชการ และมีการทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว นาย ข. ดีใจที่ได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น จึงนำเงินจำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่นาย ก. โดยนาย ก. รับเงินจำนวนนั้นไว้ กรณีนี้ นาย ก. ไม่มีความผิดฐานรับสินบน เพราะนาย ก. ไม่ได้เรียกรับทรัพย์สินจากนาย ข. และไม่ได้มีการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นาย ข.

แต่นาย ก. จะมีความผิดในเรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือ การรับสินบน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน… เรียก รับ ยอมจะรับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ…

ดังนั้น นาย ก. เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ พิจารณาที่จะว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้ก่อสร้างอาคารให้แก่ทางราชการ แต่ก่อนทำสัญญา นาย ก. ได้รับเงินจำนวนหนึ่งจาก นาย ข. จึงได้เชิญนาย ข. มาทำสัญญา ให้ได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น กรณีนี้ นาย ก. จะมีความผิดฐานรับสินบน เพราะนาย ก. รับทรัพย์สินสำหรับตนเอง โดยมิชอบและได้มีการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นาย ข. และยังมีความผิดในเรื่องการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดด้วย

หากเจ้าพนักงานของรัฐฝ่าฝืนจะต้องรับโทษ ดังนี้ การรับทรัพย์สิน/ประโยชน์อื่นใด บังคับใช้โดยพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามฯ มาตรา 128 ผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ได้แก่ เจ้าพนักงานของรัฐทุกตำแหน่ง และผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐยังไม่ถึง 2 ปี โดยลักษณะของการทำผิด คือการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนของการรับสินบน บังคับใช้โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ) ผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ได้แก่เจ้าพนักงาน/สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ/สมาชิกสภาจังหวัด/สมาชิกสภาเทศบาล ลักษณะของการกระทำผิด คือ เรียก รับ หรือยอมจะรับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ โทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท หรือประหารชีวิต

หากพบเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำนักงาน ป.ป.ช. โทร. 1205, 0 2528 4800 หรือส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000