เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กรณีไม่มาประชุมสภา

โดยนายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า การมายื่นขอให้ตรวจสอบวันลามาขาดของ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มีอคติ หรือมีเจตนาจะใส่ร้ายป้ายสี แต่พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ สส. ซึ่งกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40(2) ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ยื่นตรวจสอบการทำหน้าที่ สส. ของ พล.อ.ประวิตร ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของสภา รวมถึงการปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลวันลา มา ขาด ในการเข้าประชุมสภา ที่ได้มาจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 66 จนถึงปัจจุบัน พบว่า พล.อ.ประวิตร ลงชื่อมาประชุมโดยใช้บัตรลงทะเบียน 11 ครั้ง ลาป่วย 1 ครั้ง ลากิจ 83 ครั้ง รวมวันขาดประชุม โดยน่าจะใช้การลาเป็นฉากบังหน้าทั้งหมด 84 ครั้ง จากวันประชุมรวม 95 ครั้ง คิดเป็น 88.42% ที่สำคัญมีอยู่หนึ่งสมัยประชุม พล.อ.ประวิตร ลาทั้งสมัยประชุมฯ ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างเหตุผล “ติดภารกิจ” ซึ่งการลาแบบนี้ น่าจะถือเป็นการลาที่น่าจะมีเจตนาพิเศษ น่าจะเป็นการจงใจขาดประชุมโดยใช้ “การลาเป็นฉากบังหน้า” และน่าจะมีการใช้อำนาจแทรกแซงเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นการกระทำที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า สส. จะขาดประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุม และข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ สส. ที่ระบุว่า สส. ต้องอุทิศเวลาให้กับการประชุม ต้องไม่ขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เจ็บป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัย

“ผมพบข้อมูลว่า ในวันที่ พล.อ.ประวิตร แจ้งลาติดภารกิจ ไม่เข้าประชุมสภา บางวันก็ไปนั่งเชียร์วอลเลย์บอลผ่านออนไลน์ เปิดบ้านป่ารอยต่อให้คนไปอวยพรวันเกิด ผมขอถามหน่อยว่า อวยพรตอนกลางคืนไม่ได้เหรอ และอีกหลายๆ วัน ก็พบว่าลาเพื่อไปประชุมพรรคแบบนี้เขาเรียกว่าเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ที่สำคัญการขาดประชุมโดยใช้การลาน่าจะเป็นฉากบังหน้า ลาติดต่อกันทั้งสมัยประชุมฯ ถือได้ว่า พล.อ.ประวิตร ขาดสมาชิกภาพการเป็น สส. แล้ว ผมหวังว่ากรรมการจริยธรรมฯ จะตรวจสอบเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา ไม่ช่วยเหลือให้พ้นผิดจนเสียเกียรติภูมิของสภา” นายพร้อมพงศ์ กล่าว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า ยิ่งในวันที่ลงชื่อมาประชุม ยิ่งน่าสงสัย เพราะจากการตรวจสอบกับเพื่อน สส. หลายคน รวมถึงคนระดับประธานวิปรัฐบาล พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็น พล.อ.ประวิตร มาอยู่ในห้องประชุมเลย แต่กลับมีคนเห็นลับๆ ล่อๆ ที่ห้องหลังบัลลังก์ประธานสภาในบางครั้ง มีข้อมูลว่ามีคนนำสมุดลงชื่อไปให้ พล.อ.ประวิตร เซ็นที่รถ ซึ่งในการลงชื่อ นอกจากเซ็นชื่อแล้ว ต้องเอาบัตรไปแตะเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน จึงสงสัยว่าน่าจะมีการเอาบัตรไปแตะแทนกันหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ และเรื่องนี้เทียบเคียงกับกรณีที่กดบัตรแทนกัน โดยมีอดีต สส. ถูกดำเนินคดีและติดคุกไปแล้ว

“ในการมาลงชื่อประชุม โดยใช้บัตรลงทะเบียน 11 ครั้ง ผมทราบจากแหล่งข่าวว่า การมาประชุมสภาของ พล.อ.ประวิตร เป็นเหมือนเหยี่ยวคือ โฉบรถมาเซ็นชื่อชนิดที่ไม่ต้องลงจากรถจริงหรือไม่ แถมมีคนเอาบัตรประจำตัว สส. ไปสแกนให้จริงหรือไม่ ซึ่งผมขอตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่ก็อาจจะเป็น สส. คนใดคนหนึ่ง เพราะในจุดที่สแกนบัตร คนนอกไม่สามารถเข้าไปได้ เข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ซึ่งผมจะไปยื่นเรื่องขอให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ช่วยตรวจสอบ ค้นหาความจริงเรื่องนี้ในวันศุกร์นี้” นายพร้อมพงศ์ กล่าว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า การที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าตนไม่มีอะไรมาตรวจ พวกตนเป็นยามเฝ้าสภาหรืออย่างไร ถึงมาตรวจสอบการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งตนไม่ได้เป็นยาม เพราะสภามีระบบในการตรวจสอบอยู่แล้ว

“ผมขอเรียกร้องและวิงวอน ถ้าลาแบบนี้ ลาโดยใช้วิธีพิเศษที่น่าจะไม่เป็นวิธีการปกติทางกฎหมาย ลาออกเถอะ ลาออกจากความเป็น สส. แล้วเลื่อนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในลำดับถัดไปให้มาทำหน้าที่ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติสง่างาม” นายพร้อมพงศ์ กล่าว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า อยากให้ท่านออกมาแถลง อย่ามาตอบโต้หรืออย่ามาฟ้องพวกตน เสียเวลา ฟ้องมาตนฟ้องกลับ ไม่กลัวอยู่แล้ว ตนพร้อมที่จะปกป้องหากประชาชนเสียผลประโยชน์

“ที่นายไพบูลย์บอกจะฟ้องผม รีบด้วยนะครับ เพราะฟ้องมาผมจะฟ้องกลับ แจ้งความเมื่อไหร่ ผมจะแจ้งความกลับวันนั้น และจะแจ้ง พล.อ.ประวิตร ด้วย เพราะมอบหมายมาในข้อหาแจ้งความเท็จ รวมถึงเรื่องหมิ่นประมาทด้วย” นายพร้อมพงศ์ กล่าว.