นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยถึงค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามาอยู่ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าแข็งค่าขึ้นมาเร็วที่สุดในรอบ 30 เดือน ซึ่งกระทบกับผู้ส่งออก ซึ่งอยากเห็นค่าเงินบาทอ่อน แต่คนที่ต้องการลงทุนในการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาดูข้อมูลในเรื่องนี้ 

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งในขณะนี้มาจากปัจจัยภายนอกที่ธนาคารกลางสหรัฐ ที่มีดอกเบี้ยสูงในระยะเวลานาน มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอย่างมีสาระสำคัญ และมีการส่งสัญญาณว่าจะลงต่อไปอีก 0.75% ซึ่งตลาดเชื่อว่าจะลงไปอีก การลงแบบนี้ เม็ดเงินก็จะไหลออกจากพันธบัตรสหรัฐ มาสู่ตลาดที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา ถือว่าแข็งค่าเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้ความสามารถแข่งขันเรื่องส่งออกของประเทศเราลดลง

“เมื่อเทียบกับคู่ค้าแล้วถือว่าค่าเงินเราแข็งค่ากว่าคู่ค้า ไม่ว่าจะเทียบกับเงินหยวนของจีน เงินด่องของเวียดนาม เงินเยนของญี่ปุ่น รูเปียห์ของอินโดฯ และริงกิตของมาเลเซีย ค่าเงินเราแข็งมากกว่า ค่าเงินเราจึงเสียเปรียบ คนที่ดูแลเรื่องนี้ต้องจับไปเป็นปัจจัยว่าที่ค่าเงินเราแข็งค่ากว่าประเทศอื่น ๆ เพราะอะไร” นายพิชัย

ขณะที่เรื่องของอัตราเงินเฟ้อของไทยนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อยังหลุดกรอบเป้าหมายที่วางไว้ 1-3% ซึ่ง 8 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.15% เท่านั้น ซึ่งเมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบล่างแบบนี้ เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยซึ่งรัฐบาลบอกว่าควรจะอยู่ที่ประมาณ 2% เนื่องจากเงินเฟ้อนั้น จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพราะเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปไม่จูงใจผู้ผลิตให้ขยายการผลิตมากขึ้น ซึ่งเรื่องกรอบเงินเฟ้อ ก็ถึงเวลาที่ ธปท. กับกระทรวงการคลัง ต้องมานั่งคุยและตกลงกันว่าอัตราที่เหมาะสมคือเท่าไหร่ ในเรื่องการกำหนดกรอบเงินเฟ้อก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งหากกำหนดเงินเฟ้อไว้เป็นกรอบระดับหนึ่ง แต่เงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้า ก็แสดงว่าเศรษฐกิจไม่ขึ้น ก็ต้องมาดูว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในทางเศรษฐกิจมากขึ้น 

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยตกต่ำมาอย่างยาวนานเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ซึ่งเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างยาวนาน ซึ่งเศรษฐกิจที่ตกต่ำมานานก็จะกระทบกับเศรษฐกิจหลายเรื่อง ทั้งหนี้ของประชาชน และหนี้เอสเอ็มอีก็ขึ้น หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเราก็เห็นว่าในเรื่องของนโยบายที่จะทำคือเราต้องทำให้เศรษฐกิจเราแข่งขันให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต รวมทั้งการชักชวนการลงทุน ซึ่งรัฐบาลใช้การกระตุ้นด้วยงบประมาณไปเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนกังวลเรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพี แต่รัฐบาลก็พยายามดูแลในส่วนนี้ รัฐบาลใช้มาตรการทางการคลังไปอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดต้องสัมพันธ์กับนโยบายการเงิน ซึ่งต้องดูว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต้องดูความเหมาะสม เพราะหากสูงเกินไปก็ไม่เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโต ถือเป็นนโยบายที่สวนทาง ซึ่ง ธปท. ต้องดูให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงหรือไม่ ซึ่งก็ต้องมองว่าหากกลัวเรื่องดอกเบี้ยต่ำแล้วเงินเฟ้อจะสูง คนใช้จ่ายมากขึ้น ก็ต้องดูตัวเลขว่าขณะนี้เงินเฟ้อยังต่ำมาก ก็ต้องดูตัวเลขเงินเฟ้อที่ผ่านมาประกอบด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เงินเฟ้อหลุดกรอบไป 6 ปี ใน 8 ปี ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่ต้องมาดู เพราะเงินเฟ้อเราต่ำกว่ากรอบมาโดยตลอด

“อยากจะเชิญชวน ธปท. มาทำงานร่วมกันระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงิน ควรมีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ที่วางไว้ชัดเจน ซึ่งหากลองถอดหมวกแล้วมานั่งทำงานร่วมกัน ก็จะสามารถหาจุดร่วมที่นโยบายการเงินและการคลังไปด้วยกันได้” นายพิชัย กล่าว