เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้ของบกลาง ปี 2567 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,849,297,118.32 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิด-19 ของหน่วยงานในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือน ต.ค. 2564-เดือน ก.ย. 2565 โดยในวันที่ 25-27 ก.ย. นี้ ทางสำนักงบประมาณ อนุมัติงวดเงินจัดสรร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แจ้งจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง เบิกจ่าย 27-30 ก.ย. นี้ ตามหลักเกณฑ์ฯ คือจ่ายให้ผู้ปฏิบัติงานที่มีสิทธิได้รับโดยตรง

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับรายระเอียด ประกอบด้วย 1.ค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นอกสถานพยาบาล ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 8,519,825 บาท 2.ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 3,840,777,293.32 บาท จำแนกเป็นกระทรวงสาธารณสุข 3,247,294,014.93 บาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 171,404,768.45 บาท กระทรวงกลาโหม 96,943,668.68 บาท กระทรวงมหาดไทย 257,177,071.50 บาท กระทรวงยุติธรรม 6,862,165 บาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 14,070,750 บาท สภากาชาดไทย 43,316,737.50 บาท และ รพ.จุฬาภรณ์ 3,708,117.26 บาท

“เรื่องนี้ ถือว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักในช่วงโควิด จะได้รับค่าเสี่ยงภัยแล้ว หลังเฝ้ารอมานาน โดยตนขอยืนยันว่า ไม่ได้ลืม และติดตามเรื่องนี้ให้อย่างใกล้ชิด จนคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้แล้ว” รมว.สาธารณสุข กล่าว.