สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏรายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ในฐานะรองหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนฯ ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 493/2566 ลงนามคำสั่งหนังสือลับด่วนที่สุด เรื่อง ขอทราบมติการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 และคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสรุปผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 รวมถึงคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ได้มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล และพวก เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวภายในสำนักงาน ปปง. ว่า สำหรับหลักการหากจะดำเนินคดีอาญาฟอกเงินแก่บุคคลใด จะต้องมีความผิดมูลฐานเกิดขึ้นก่อน และหากบุคคลใดมีพฤติการณ์จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดีมูลฐานก็อาจจะมีความผิดอาญาฐานฟอกเงินได้ อีกทั้งคดีอาญาฐานฟอกเงินถือเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดิน เมื่อเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดิน กระบวนการ คือ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีอาญาได้ หรือในกรณีของสำนักงาน ปปง. ในฐานะที่มีอำนาจสืบสวนความผิดอาญาฐานฟอกเงิน หากพบพยานหลักฐาน ปปง. ก็สามารถไปกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนได้ ฉะนั้น ปปง. จึงอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ และการจะชี้ว่าทรัพย์สินที่มีการจำหน่าย จ่าย โอนไปนั้น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดีมูลฐานหรือไม่ ส่วนใหญ่จึงเป็นรายการทรัพย์สินที่เกิดจากคำสั่งยึดและอายัดโดยคณะกรรมการธุรกรรม เช่น เงินจากการเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตของรอง ผบ.ตร. จำนวนมูลค่าประมาณ 4.8 แสนบาท ดังนั้น หน่วยงานใดจะดำเนินการอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับความพร้อมและความครบถ้วนของพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ รอง ผบ.ตร. ได้มีการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ของคณะกรรมการธุรการนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ว่าเรื่องราวที่มีการยื่นคำร้องขอเพิกถอนเข้ามานั้นรับฟังได้หรือไม่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ก็จะต้องประมวลเสนอส่งไปยังคณะกรรมการธุรกรรมตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ทราบว่าทางคณะกรรมการธุรกรรม ยังไม่ได้มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ และภรรยา เพิ่มเติมแต่อย่างใด

รายงานข่าวเผยด้วยว่า สำหรับคดีอาญาฐานฟอกเงิน หน่วยงานที่จะมีอำนาจดำเนินการสอบสวนได้นั้น จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ในส่วนของ ปปง. จะมีหน้าที่สืบสวน การที่ ปปง. จะไปกล่าวโทษบุคคลใดในข้อหาฟอกเงิน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะต้องดูว่าสิ่งที่ ปปง. กล่าวโทษนั้น มีอำนาจในการรวบรวม สอบสวน และดำเนินคดีกับบุคคลนั้นได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ การทำหนังสือสอบถามกระบวนการดำเนินงานของ ปปง. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำได้ ซึ่ง ปปง. จะมีหน้าที่ในการตอบกลับประเด็นการดำเนินงานว่าได้ทำสิ่งใดไปแล้วบ้าง ถือเป็นขั้นตอนประสานการดำเนินงานปกติ รวมถึงคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ของคณะกรรมการธุรกรรมก็ไม่ได้เป็นความลับ เพราะมีไว้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจง

รายงานข่าวปิดท้ายว่า หาก ปปง. ได้ดำเนินการกล่าวโทษความผิดฐานฟอกเงินแก่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยรายใด ในส่วนของกระบวนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา บุคคลนั้นจะต้องไปแก้ข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของสำนวนแทน แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการกับทรัพย์สิน หรือการยื่นคำร้องขอเพิกถอนการอายัดทรัพย์สิน ปปง. จึงจะเข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้.