รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ปรากฏมีการเสนอวาระของคดีศาลปกครองกลาง หมายเลขคดีดำ 1463/2567 ลงวันที่ 2 ก.ย. 2567 ในวาระอื่นๆ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นคดีที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ฟ้อง ประธานกสทช. และกรรมการ กสทช. ทุกคน ถึงประเด็นกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่มีการลงมติไม่เลือกนายไตรรัตน์เป็นเลขาธิการ กสทช. ตามที่ประธาน กสทช. นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เสนอชื่อ

โดยทาง ประธาน กสทช. คือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกรรมการ กสทช. คือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องทำคำให้การและแนบสำเนาพยานหลักฐานที่รับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้าจำนวน 1 ชุด และจัดทำสำเนาคำให้การและสำเนาพยานหลักฐานที่รับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้าอีกจำนวน 1 ชุด รวม 2 ชุด ยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้

ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มขั้นตอนกระบวนการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ตามประกาศประธานกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ลงวันที่ 17 มี.ค. 2566 จนถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กสทช. ลงวันที่ 24 ก.ค. 2567 แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ที่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีตามมติที่ประชุมเสียงข้างมากของผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 หากผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลจะถือว่าผู้ถูกฟ้องคดียอมรับข้อเท็จจริงตามข้อหาของผู้ฟ้องคดี

แหล่งข่าวจาก กสทช. ระบุว่า คดีดังกล่าว สำนักงาน กสทช. นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมกระชั้นชิดมาก ทำให้กรรมการ กสทช. ทำเอกสารชี้แจงต่อศาลไม่ทันแน่นอน ดังนั้นคาดว่ากรรมการ กสทช. น่าจะอยู่ระหว่างการทำหนังสือขอเลื่อนการส่งเอกสารคำให้การออกไปก่อน ซึ่งการดำเนินการของสำนักงานฯ เช่นนี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามที่ศาลกำหนด มีความสุ่มเสี่ยงมากที่นายไตรรัตน์จะได้ขึ้นตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยชอบธรรม หรือไม่ ทำไมสำนักงาน กสทช. ถึงแจ้งล่าช้า

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ยังมีคดีของนายไตรรัตน์ อีกคดี ที่ค้างอยู่ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในการฟ้อง 4 กสทช. คือ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นางสาวพิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ในคดีสอบวินัยเรื่องการให้เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และปลดนายไตรรัตน์ ออกจากรักษาการเลขาธิการ กสทช.

ทั้งนี้ กระบวนการสรรหา กสทช. นับจากประธาน กสทช. นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประกาศสรรหาตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว แม้จะมีคนเข้ามาสมัครแต่รายชื่อที่ประธานเสนอที่ประชุมคือนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. และรองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งเป็น 1 ในผู้สมัครด้วย แต่ทางกรรมการ กสทช. ทั้ง 4 คน คือ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นางสาวพิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ไม่ได้เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหาตั้งแต่แรกที่ใช้อำนาจประธาน กสทช. กำหนดกระบวนการและวิธีการทั้งหมด ไม่ใช่การโหวตจากกรรมการ กสทช.

โดยมีมติ 4 ต่อ 3 ไม่เลือกนายไตรรัตน์ เป็นเลขาธิการ กสทช. ทำให้ต้องมีการสรรหาเลขาธิการใหม่ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ซึ่งเหตุผลหลักของ 4 กสทช. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล แต่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสรรหามาตั้งแต่แรก ที่ไม่ให้ กสทช.ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก แม้นายไตรรัตน์ได้มีการอุทธรณ์มติดังกล่าวแล้ว แต่กรรมการ กสทช. ก็ยืนยันว่า อุทธรณ์ไม่ได้ เพราะมติระบุชัดว่าไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล แต่ไม่ลงมติเพราะเหตุผลกระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 นายไตรรัตน์ ได้ฟ้อง 4 กสทช. และนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ข้อหา เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 กรณีการเปลี่ยนตัวรักษาการรองเลขาธิการ กสทช. จากนายไตรรัตน์ เป็น นายภูมิศิษฐ์ เนื่องจากมีการสอบสวนคดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ให้กับ กกท. ซึ่งนายไตรรัตน์เห็นว่า กสทช. ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการลงมติให้ประธานกรรมการ หรือสำนักงาน กสทช. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย