เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่รัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ที่ทั้งพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นร่างดังกล่าว เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ว่า ขณะนี้ปัญหาจริยธรรมที่ถูกตีความขยายไปเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากให้เป็น เช่นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกพรรคมองเห็นตรงกันว่ายอมรับไม่ได้ แต่เมื่อมีประเด็นรายละเอียดต่างๆ กลับเป็นการเปิดช่องให้องค์กรอิสระพิจารณาตีความขยายเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาระบอบสถาบันการเมือง และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากมีการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว ไม่แก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็จะไม่สมบูรณ์แบบ

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ภายในสัปดาห์นี้ ประธานรัฐสภาจะนัดหมายวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาชน เสนอไว้ทั้งหมด 4 ร่าง เนื้อหาสาระเชิงหลักการแตกต่างกัน แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน น่าจะพิจารณารวมกันได้แต่แยกลงมติรายฉบับ ทั้งนี้ พรรคประชาชนอยากได้เวลาเต็มที่ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเพราะเป็นเรื่องสำคัญ หากใช้เวลาเพียง 1 วัน ต้องรอดูว่าจะให้แล้วเสร็จเมื่อใด แต่หากตึงไป อาจจะขอเป็น 2 วัน ซึ่งหากใช้เวลาเต็มที่ พิจารณาสาระรายละเอียดได้มากพอสมควร ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า

เมื่อถามถึงข้อกล่าวหาการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องมาตรฐานจริยธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและพวกพ้อง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ร่างของพรรคประชาชนเสนอนั้น สมาชิกที่เข้าชื่อ ไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับคดีจริยธรรม คือ สส. 44 คน อดีตพรรคก้าวไกล ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะมีเจตจำนงที่จะนำไปสู่การทบทวนรัฐธรรมนูญในหมวดนี้อย่างแท้จริง ไม่ได้ต้องการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การแก้ไขในหมวดจริยธรรมและหมวดที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของใคร แต่เพื่อประโยชน์ความมั่นคงทางสถาบันการเมือง เพราะระบบการตรวจสอบที่สำคัญที่สุด คือการตรวจสอบจากประชาชนที่เป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง แม้แต่กรณีที่บุคคลจะหลงผิดไป แต่ละพรรคการเมืองก็มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น เช่นที่อดีตพรรคก้าวไกลได้ดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความมั่นคงและความเหมาะสมทางสถาบันการเมือง และประโยชน์ต่อประชาชน

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามจะอาศัยเวทีรัฐสภา รวบรวมสิ่งที่ประชาชนสงสัยมาอธิบายชี้แจงข้อสงสัยว่า ความต้องการแก้ไขหลักใหญ่ใจความเพื่อต้องการทบทวนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เวลาของการแก้ทั้งฉบับเคลื่อนจากเวลาเดิมที่ตั้งใจไว้ เช่นพ.ร.บ.ประชามติ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ก็ล่าช้าในเชิงกระบวนการ และการทำประชามติครั้งแรก ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเดือน ก.พ. 2568 หรือไม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นแก้ไขรายมาตรา ซึ่งจริยธรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ยังมีเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและโครงสร้างของสิ่งที่ตกค้างจากคำสั่ง คสช. ที่ต้องการทบทวน และมีอีกหลายประเด็นอยากให้ประชาชนติดตาม ว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นไปเพื่อคงสถาบันการเมืองที่เหมาะสมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อใครคนใดคนหนึ่งแน่นอน

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ สว. อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อขอเสียงสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องใช้เสียงสนับสนุน ซึ่ง สว. ชุดนี้ มีความหลากหลายมาก ต่างจาก สว. ชุดก่อน จึงอาจไม่สามารถคุยทุกกลุ่มหรือทุกคนได้ แต่สิ่งสำคัญที่ทำตอนนี้คือทำความเข้าใจต่อสาธารณชน ที่เป็นการยืนยันว่าการแก้ไขไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เพื่อคงระบอบพรรคการเมืองที่เป็นหนึ่งในสถาบันหลักทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวุฒิสภาที่มาจากประชาชน ต้องมีความเข้าใจเรื่องการเมือง และการตัดสินใจจะเป็นอิสระ ไม่ใช่การกดปุ่มชี้แบบใดแบบหนึ่ง จึงยังมั่นใจว่า ถ้าเห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ได้พิจารณาฟังเหตุและผลที่สมาชิกแต่ละคนนำเสนอ จะได้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 จาก สว. อย่างแน่นอน.