เมื่อเวลา 08.20 น.วันที่ 24 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยผ่าน SMS ที่มีรูปแบบการแจ้งเตือนที่ต่างจาก SMS ปกติ หรือเรียกว่า HOT ALERT ว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา มีการประชุมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ ในเรื่องการเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ ส่วนเรื่องชื่อของผู้ส่งข้อความ (Sender Name) ได้มอบหมายให้ทาง ปภ. เป็นผู้ส่ง แต่เรื่องข้อมูลที่จะส่งเป็นการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ดูแลสภาพอากาศ อย่างเรื่องดินโคลนถล่มเป็นเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องฟ้าฝนเป็นของกรมอุตุนิยมวิทยา

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันได้มีการเชิญผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อเพิ่มช่องทางในการแจ้งเตือนประชาชน หากมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน จะมีหน้าที่ส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ มีการมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ออกประกาศตามสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เริ่มแล้ว ทั้งนี้ ระบบการแจ้งเตือนภัยดังกล่าว สามารถแจ้งเตือนหากเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์พื้นที่เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยัง ปภ. และ ปภ. จะส่งข้อมูลไปยัง กสทช. เพื่อส่งต่อไปยังเครือข่ายมือถือเพื่อแจ้งเตือนประชาชน และมีการแจ้งเตือนไปยังช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งระบบนี้จะเป็นการแจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบว่าสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในระดับใด ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ ตามความรุนแรงของสถานการณ์ แต่จะไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ซึ่งในระดับที่ 5 จะเป็นการเตือนภัยในระดับสูงสุดเพื่อให้ประชาชนออกจากพื้นที่ ซึ่งข้อความการแจ้งเตือน จะมีการระบุที่ชัดเจนว่าประชาชนควรปฏิบัติตนอย่างไร

เมื่อถามถึงระบบบอร์ดแคสการแจ้งเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินหรือ (Cell Broadcast Service) ที่จะมีการเตือนภัยพิบัติทั้งระบบ นายประเสริฐ กล่าวว่า จะเสร็จประมาณไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ส่วนไตรมาสแรก จะเป็นเรื่องของการทดสอบระบบที่จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อส่งให้กับประชาชน แม้จะไม่รู้เบอร์โทรศัพท์ ก็สามารถยิงเข้าไปได้ทุกหมายเลขที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ.