เมื่อวันที่ 23 ก.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รอง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ตัวแทนปลัดกระทรวงฯ ทำหน้าที่เป็น รอง ประธานฯ พร้อมด้วยนางเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย อัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สภาทนายความ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ร่วมรับทราบรายงานผลการขับเคลื่อน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ “พ.ร.บ.อุ้มหาย” ประจำปีงบประมาณ 2567

ในการประชุมมีประเด็นสำคัญหลายวาระ อาทิ ความคืบหน้าร่างระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ. … หรือ “ร่างระเบียบเยียวยาผู้เสียหาย” ภายหลังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ส่งร่างระเบียบที่ระบุข้อกำหนดรายละเอียดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นขอรับการช่วยเหลือและการเยียวยาไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อให้ความเห็นชอบ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย จากการได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟู ทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเท่าที่จะเป็นไปได้ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ล่าสุด กรมบัญชีกลาง ทำหนังสือเสนอแก้ไขถ้อยคำให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เกิดความคล่องตัว ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอีกแล้ว โดยการแก้ไขถ้อยคำในข้อ 10, ข้อ 12 และข้อ 18 จากเดิมเป็น “ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

ที่ประชุมยังมีการรายงานความคืบหน้า ร่างคู่มือการตีความและแนวทางการปฏิบัติงาน ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่จะมีการอธิบายที่มา เจตนารมณ์รายมาตราที่จะเชื่อมโยงอนุสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ รวมถึงแนวทางการพิจารณาและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่หน่วยงานและประชาชน, การรายงานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีเขตอำนาจศาลตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ในคดีการเสียชีวิตของพลทหารกิตติธร (สงวนนามสกุล) จากค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย เหตุเกิดเมื่อช่วงเดือน กรกฎาคม 2566

คดีดังกล่าว อัยการสั่งฟ้องที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ต่อครูฝึกทหาร 2 นาย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ฐานร่วมกันกระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ตามมาตรา 83 ในประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.อุ้มหาย จึงนับเป็นคดีแรก หลังบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย กระทั่งวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก(5 ต่อ 4) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่เรือนจำอำเภอรัตนบุรี ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายนักโทษ เบื้องตัน ผลการชันสูตรจากโรงพยาบาลตำรวจ ลงความเห็นสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากการฉีกขาดของม้าม แม้ไม่อาจชี้ชัดว่าเกิดในช่วงใดแต่ในทางการแพทย์อาจให้ข้อมูลช่วงเวลาการเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังรอการสรุปสำนวนการเสียชีวิตของพนักงานสอบสวน แต่ได้เชิญผู้แทนกรมราชทัณฑ์รายงานผลการสอบข้อเท็จจริง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวกับคณะกรรมการฯ ก่อนปิดการประชุมว่า “พ.ร.บ.อุ้มหาย” ถือเป็นกฎหมายที่คนใช้ได้ประโยชน์คือประชาชน แต่อาจมองไม่เห็นชัดเพราะในสังคมไทย เครื่องบินตกมักเป็นข่าวมากกว่าเครื่องบินที่อยู่บนท้องฟ้า ทั้งๆ ที่ประชาชนที่ได้รับประโยชน์มีมาก จึงอยากขยายประโยชน์ไปยังงานราชทัณฑ์ ที่จะทำอย่างไรให้หน่วยงานแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย เช่น กล้องบันทึกภาพ เป็นต้น ก็เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์มากที่สุด

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับร่างระเบียบเยียวยาผู้เสียหาย ที่จะมีประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบในขั้นตอนต่อไป จึงขอฝากให้คณะกรรมการฯ เรียบเรียงประเด็นปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข ทั้งการตีความกฏหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การจัดการเรื่องร้องทุกข์ ระบบการรับแจ้ง ที่จะบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย รวมถึงร่างระเบียบเยียวยาผู้เสียหาย เผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน รวมถึงบุคลากรของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจที่เพียงพอ สอดคล้องกับกฎหมายสมเจตนารมณ์มากที่สุด สะท้อนไปถึงกฎหมายระหว่างประเทศด้วย