ตามที่นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ระบุว่า จำเป็นต้องเลื่อนการประชุมจากเดิมที่กำหนดไว้ช่วงเช้าวันที่ 24 ก.ย. นี้ออกไปก่อน เพราะนายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ เกษียณอายุราชการไปแล้ว ขอให้นายเมธีลาออก เพื่อให้ ธปท.เสนอชื่อคนใหม่มาเป็นกรรมการ

ล่าสุด วันที่ 23 ก.ย. นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง หรือไตรภาคี) ฝ่ายนายจ้าง ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า นายเมธี เป็นตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทยส่งมา แม้ว่าจะเกษียณแล้วก็ยังเป็นตัวแทนของแทนของ ธปท. เพราะตอนที่เสนอมานั้น เสนอมาในนามของ “ชื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง” ไม่ได้เสนอมาโดย “ตำแหน่งผู้ว่าการธปท.” ดังนั้นพอเสนอมาในนามของ ชื่อ เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ยังถือเป็นกรรมการค่าจ้างอยู่ เหมือนที่ผ่านมาหลายคน อาทิ ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกรรมการค่าจ้างหลายสมัย สุดท้ายก็เกษียณอายุ ซึ่งหลังเกษียณก็ยังเป็นกรรมการค่าจ้างอยู่เกือบปี เมื่อมีกรรมการชุดใหม่ ทาง ธปท.ก็ส่งคนใหม่มา และส่วนใหญ่ก็จะส่งผู้ที่ใกล้เกษียณอายุมา ดังนั้นกรณีนายเมธี ต่อให้เกษียณแล้วก็ยังสามารถเป็นบอร์ดค่าจ้างต่อได้ ทั้งนี้เป็นหลักปฏิบัติเช่นนี้มาช้านาน ไม่เหมือนกับอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะมาโดยตำแหน่ง

เมื่อถามว่า ประธานบอร์ดค่าจ้างฯ ระบุว่า ทาง ธปท.ประกาศไม่รับรองการกระทำใดๆ ของนายเมธี และขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสืออย่างเป็นทางการจาก ธปท. นายอรรถยุทธ กล่าวว่า การรอก็ต้องรอ จะพูดออกไปก่อนจะมีหนังสืออย่างเป็นทางการไม่ได้ เพราะเดิมไม่เคยมี เข้าใจว่า ปลัดกระทรวงแรงงานกังวลว่าจะโหวตไม่ได้ 2 ใน 3 หรือไม่ เพราะการโหวตของกรรมการ 15 คน จะผ่านได้ต้องมีคนโหวตให้ผ่าน 10 คน แต่อาจจะมีการคำนวณมาก่อนว่า นายเมธีอาจจะออกเสียงไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 400 บาท หรืองดออกเสียง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็จะมีเพียง 9 เสียง ไม่ครบ 2 ใน 3

“นี่อาจจะเป็นที่มาของการพูดให้คุณเมธี ลาออกจากการเป็นกรรมการค่าจ้าง ซึ่งคุณเมธีก็ยังไม่ได้ลาออก หรือไปพูดว่ารอหนังสืออย่างเป็นทางการ ผมก็ขอวิงวอนคุณเมธีอย่าได้หลงกลการเมืองของปลัดกระทรวง” นายอรรถยุทธ  กล่าวและว่า

เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเดินเกมเปลี่ยนตัวคนเข้ามาอยู่ในบอร์ดค่าจ้างหรือไม่ นายอรรถยุทธ กล่าวว่า เหตุการณ์มันมุ่งชี้ไปทางนั้น เมื่อถามต่อว่าบอร์ดค่าจ้างชุดที่ 22 เหลือเวลาทำงานอีกนานหรือไม่ นายอรรถยุทธ กล่าวว่า วาระการทำงานของบอร์ดค่าจ้างชุดที่ 22 จะถึงวันที่ 13 มี.ค. 2568 แต่ก็ยังสามารถรักษาการต่อได้จนกว่าจะมีบอร์ดชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งการเข้ามาเป็นบอร์ดนั้น ในสัดส่วนลูกจ้าง สัดส่วนนายจ้าง จะต้องมาจากการเลือกตั้งของแต่ละฝ่าย เพื่อหาผู้แทนเข้ามา ส่วนสัดส่วนภาครัฐบาล จะมีปลัดกระทรวงแรงงานที่เป็นโดยตำแหน่ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นโดยตำแหน่ง ที่เหลือก็เชิญมา  

เมื่อถามว่าหากสมมุติว่า สามารถเปิดประชุมได้ แล้วที่ประชุมพิจารณาไม่ให้มีการขึ้นค่าแรง 400 บาท ก็ถือว่าจบไป หรือจะเป็นไปในลักษณะใดต่อไป นายอรรถยุทธ กล่าวว่า หากโหวต 400 บาท ไม่ผ่านก็ให้ใช้อัตราเดิม เพราะไม่มีการเสนออัตราอื่นเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา 2. หากไม่ผ่านแล้วกลับลำ เรียกประชุมครั้งใหม่ แล้วกลับไปดูรายระเอียดที่อนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดที่เคยส่งมาว่ามีอัตราใดบ้าง แล้วค่อยมาพิจารณากันอีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งที่จริง ในการพิจารณาค่าจ้างฯ นั้น ควรเอาสิ่งที่อนุฯ จังหวัดส่งมา และผ่านอนุกรรมการกลั่นกรองค่าจ้าง เข้าสู่การพิจารณา นี่ถึงจะเป็นการพิจารณาตามธรรมชาติ ซึ่งตัวเลขจะออกมาเป็นเท่าไหร่ ทุกคนจะทราบหลังการประชุมลงมติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนก็มีมารยาทพอที่จะไม่พูดล่วงหน้า สิ่งที่อยากวิงวอนคือขอการเมืองอย่าได้เข้ามาแทรกแซง ขอให้เราได้พิจารณาอย่างอิสระ

เมื่อถามว่า เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับบอร์ดค่าจ้างฯ ทางนายจ้างมีการพูดคุยกันเพื่อดำเนินการอะไรหรือไม่ เหมือนก่อนหน้านี้ที่รวมตัวกันไปร้องเรียนที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายอรรถยุทธ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบ แต่ตอนนี้รู้สึกผิดหวังกับการทำงานของประธานบอร์ดมาก ต้องรอดูว่าผลจะออกมาอย่างไร แล้วค่อยคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ตอนนี้ก็มีการหารือกับองค์กรต่างๆ แล้วพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเอสเอ็มอี เพราะนายจ้างได้รับผลกระทบไปเยอะแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมวด 6 คณะกรรมการค่าจ้าง มาตรา 80 ให้กรรมการค่าจ้างซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ในกรณีที่กรรมการค่าจ้างซึ่ง ครม.แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ ครม.แต่งตั้งกรรมการในประเภทเดียวกันเป็นกรรมการแทน และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน เว้นแต่วาระของกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน จะไม่แต่งตั้งกรรมการแทนก็ได้ ทั้งนี้ในกรณีที่กรรมการค่าจ้างซึ่ง ครม.แต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งต้องแต่งตั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วันนับแต่วันที่กรรมการเดิมพ้นจากตำแหน่ง

ส่วนมาตรา 81 ระบุถึงการพ้นจากตำแหน่งวาระตามมาตรา 80 เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ครม.ให้ออกเพราะขาดประชุมตามที่กำหนด 3 ครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร (4) เป็นบุคคลล้มละลาย (5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ.