นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดในการประชุมประจำปี 2567 เรื่อง “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย (Geopolitical Uncertainty : Navigating the Future)” ในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก : นัยต่อประเทศไทย” ว่า 5 ความท้าทายที่ไทยต้องบริหารจัดการเพื่อรับมือความผันผวนที่เกิดขึ้นในระยะถัดไป ได้แก่ ด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศหรือเอฟดีไอ ที่ไหลสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสนี้ดึงการลงทุนเข้ามาที่ไทยเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากขึ้นเพื่อใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันด้านแรงงานจะต้องดึงแรงงานที่มีทักษะสูงมาช่วยทำงานและถ่ายทอดความรู้ให้กับแรงงานไทยเพื่อร่นระยะเวลาในการผลิตแรงงานและช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าแบบก้าวกระโดดได้ ด้านความมั่นคงทางอาหารก็เป็นอีกเรื่องที่ไทยต้องให้ความสำคัญเพระหากจะส่งอาหารออกไปต่างประเทศอย่างเดียวโดยไม่สำรองอาหารภายในประเทศ เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารภายในประเทศจะบริหารอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องบริหารการผลิตและต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อสินค้าเกษตรของไทย

ด้านความมั่นคงพลังงาน ต้องเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ที่มีข้อขัดข้องกันในเรื่องพลังงานนี้อยู่ก็จะช่วยให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานและเดินหน้าเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคอาเซียนได้  และการไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนที่กระทบผู้ประกอบการภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี หรือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง 

นายดนุชา  กล่าวว่า ขณะที่การแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐ และจีน ข้อจำกัดจากมาตรการกีดกันต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ นำมาสู่แนวนโยบายที่ส่งผลเสียต่อการค้าเสรีในหลายประเทศ เมื่อรวมกับวิกฤติโควิด-19 รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน อิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลให้แนวโน้มการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลกมีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อประเทศต่างๆ มุ่งย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ของบริษัท หรือไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิต และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า เงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศหรือเอฟดีไอในระดับโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เงินลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก แต่เงินลงทุนจากจีนและประเทศกลุ่มบริกส์หรือกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเม็ดเงินลงทุนระหว่างประเทศที่ลดลง ในขณะที่มีบางกลุ่มประเทศที่ยังคงมีมูลค่าเอฟดีไอเพิ่มขึ้น อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม สะท้อนถึงการย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศดังกล่าว แต่ไทยเป็นประเทศที่เอฟดีไอลดลง จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศไทยเพื่อที่จะสามารถรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว

นอกจากนี้เรื่องการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ  ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างแม่น้ำโขงมีแนวคิดที่จะสร้างเขื่อนเพิ่มอีกแห่งจากเดิมที่มีอยู่แล้วหลายแห่ง ดังนั้นประเทศปลายทางหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้รับผลกระทบและเกิดความขัดแย้งในอนาคต เรื่องน้ำจึงเป็นอีกเรื่องที่ไทยต้องบริหารให้มีความเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดความขาดแคลน ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และเตรียมความพร้อมในอนาคต