นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิรูป เงินเดือนและสวัสดิการในภาครัฐทั้งหมด เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายในรายการดังกล่าว ใช้งบประมาณที่สูงมาก ดังนั้นต้องมาดูฐานะการคลัง และภาระการคลังในระยะยาวของรัฐบาลประกอบด้วย เฉพาะงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ยังไม่รวมงบด้านบำเหน็จบำนาญข้าราชการอีก

ทั้งนี้ งบเหล่านี้นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนอายุยืนขึ้น ขณะเดียวกันมีโรคเกิดใหม่มากขึ้น และยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ ก็แพงขึ้น ซึ่งกรมบัญชีกลาง จะต้องเข้าไปดูว่า สามารถต่อรองเรื่องราคาได้หรือไม่ หรือสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

นางแพตริเซีย กล่าวว่า กรมต้องมาดูกระบวนการรายจ่ายของข้าราชการทั้งหมด ตั้งแต่การเข้ารับราชการ เงินเดือน และสวัสดิการทุกอย่าง ซึ่งกรมบัญชีกลางได้คุยหารือกับสำนักงบประมาณ และ ก.พ. อยู่ว่า กระบวนการทั้งหมดในระยะยาว การเข้ารับราชการควรจะเป็นอย่างไร สำหรับการรับข้าราชการบรรจุใหม่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่มีหลายทางเลือก เช่น เงินเดือนสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ หรือ ผลตอบแทนคล้ายกับเอกชน หรือเงินเดือนยังจะให้เหมือนเดิมอย่างในปัจจุบัน โดยกำลังบูรณาการทั้งหมดอยู่ แต่ขอให้ตกผลึกก่อนว่าจะเลือกแบบไหน

สำหรับรายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ในปีงบประมาณ 66 มีจำนวนรวมอยู่ที่  8.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.78% จากปีงบประมาณก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วน 25.69% ของงบประมาณรายจ่ายโดย เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลไม่มีการปรับฐานเงินเดือนในช่วงดังกล่าว ในขณะที่จำนวนข้าราชการมีแนวโน้ม ขยายตัวเพียงเล็กน้อย โดยในปีงบประมาณ 65 ข้าราชการมีจำนวนทั้งสิ้น 1.51 ล้านตำแหน่ง เพิ่มขึ้น 0.21% จากปีงบประมาณก่อนหน้า

ส่วน รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐทุกด้านในปีงบประมาณ 66 มีรวมอยู่ที่ 5.14 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.61% จากปีงบประมาณก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 16.15% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการสำหรับประชาชน ในปีงบประมาณ 66 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 3.98 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าที่ 7.42% คิดเป็นสัดส่วน 12.50% ของงบประมาณรายจ่าย เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของประเทศไทย