ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 2567 ภายใต้หัวข้อ “WHY ? ทำไม ? ไม่เข้าใจวัยรุ่น” เพื่อกระตุ้นให้ครอบครัว ชุมชน และสังคมเข้าใจวัยรุ่น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน โดยมีบูธกิจกรรมและนิทรรศการที่น่าสนใจ และจัดแสดงละครสะท้อนปัญหาช่วงชีวิตวัยรุ่นที่นำไปสู่ความเสี่ยง โดย ทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันนี้ เพื่อให้ผู้ใหญ่เปิดใจและพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติและความเป็นไปของวัยรุ่น และตีแผ่ปัญหาปัจจัยเสี่ยง สะท้อนจุดยืนและการดำเนินงานของ สสส. ที่ต้องการสร้างเสริมสุขภาวะในเด็กและเยาวชน ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ทั้งบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด และการพนัน โดย สสส. ได้จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง ให้บุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถ และสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะ
นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่อยู่ที่ 12.7% ลดจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 15.4% ส่วนนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี มี 211,474 คน ในจำนวนนี้ 73.7% เริ่มสูบบุหรี่ช่วงอายุ 15-19 ปี ขณะที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มอายุ 15-24 ปี มีแนวโน้มลดลงเหลือ 20.9% หรือประมาณ 1.9 ล้านคน ในปี 2564 จากเดิมอยู่ที่ 23.5-29.5%ในปี 2547-2558 พบดื่มแล้วขับ 33.06% ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน ขณะที่ 25.09% ดื่มแล้วขับทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารบาดเจ็บและเสียชีวิต
“นอกจากนี้การดื่มยังเป็นปัจจัย 1 ใน 4 ของความรุนแรงในครอบครัว ส่วนปัญหาการพนัน ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานข้อมูล ปี 2566 มีพบกลุ่มอายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่ 739,000 คน เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า และใช้สารเสพติดสูงกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า ทั้งนี้การเล่นพนันมีผลต่อสมองของเด็ก ยิ่งเลิกยิ่งติดจนขาดความยับยั้งช่างใจ กลายเป็นคนลักขโมยเอาเงินไปเล่นพนัน ซึ่งเข้าถึงง่ายผ่านทางออนไลน์” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ด้านนางสาวแพท นามสมมติ กล่าวว่า ตนเริ่มสูบบุหรี่มวนตอนที่อยู่ชั้นม.ต้น มองกลับไปยังจำไม่ได้ว่าทำไปทำไม เพราะยังเด็กมาก คิดแค่ว่า สูบแล้วรู้สึกดี รู้สึกว่าเป็นกิจวัตรที่ต้องสูบ แต่ก็เลิกสูบตอนม.ปลาย เพราะไม่รู้ว่าจะสูบไปทำไม เลยหยุดสูบ แต่พอเรียนระดับมหาวิทยาลัย ก็เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเห็นจากสื่อโซเชียลมีเดีย สิ่งแวดล้อม ก็เลยทดลองสูบ ซึ่งหาได้ง่ายมาก มีร้านขายเฉพาะทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ช่วงแรกสูบแล้วรู้สึกแปลก เลยสูบมาตลอด รู้ตัวก็ไม่ทันแล้ว แต่ต่อมาก็เกิดความรู้สึกแบบเดิมอีก คือไม่รู้ว่าจะสูบไปทำไม แถมราคาค่อนข้างแพง ประกอบกับเริ่มรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น หายใจเหนื่อยหอบ ตอนนี้ก็เลยพยายามลดปริมาณการสูบลง เพื่อให้ชิน และสามารถเลิกสูบได้อย่างเด็ดขาด
“อยากจะบอกเพื่อนๆ ว่าไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่ง หรือลองสูบ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้าเลย เพราะมันไม่ได้มีผลดี มีแต่ผลเสีย อันนี้พูดจากปากที่ลองมาแล้ว ทำมาแล้ว และตอนนี้ยังทำอยู่ ก็อยากบอกจริงๆ ว่ามันไม่มีประโยชน์” นางสาวแพท กล่าว
นางสาวแอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2565 กล่าวว่า ตนเกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อมหน้า พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็ก และตนอยู่กับพ่อมาตลอด สำหรับฉายานางงามจากกองขยะ ได้มาจากอาชีพของพ่อ แม่ เป็นพนักงานเก็บขยะของกทม. ไม่รู้สึกอายหรือต้องปกปิด เพราะคุณค่าของชีวิตอยู่ที่เราเห็นอะไรในตัวเอง ไม่ใช่คนอื่นเห็นอะไรจากเรา ซึ่งตนยอมรับและภูมิใจกับฉายานี้ เพราะถ้าไม่เคยลำบาก เราจะต่อสู้พยายามจนเรียนจบ และเข้าสู่การประกวดเวทีนางงาม จนประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้หรือไม่ ขอฝากถึงเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ ขอให้ตั้งใจ พยายามให้เต็มที่กับทุกหน้าที่ ทุกบทบาทที่ทำ และเปิดรับฟังเสียงวิจารณ์ เพื่อนำมาพัฒนาตนเอง หากเกิดปัญหาขอให้คิดว่า ทุกปัญหามีทางออกให้หลุดพ้นเสมอ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้เจอทางออกของชีวิต