ความเคลื่อนไหวการแข่งขันมหกรรมมวยไทยเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา มวยไทยเยาวชนสมัครเล่นชิงแชมเปี้ยนโลก ประจำปี 2567 “อิฟม่า ยูธ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2024” ที่พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 13-19 กันยายน แฟนมวยเข้าชมฟรี โดยรายการดังกล่าวสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ร่วมกับ สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ (AMTAT) และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จัดการแข่งขันเพื่อเป็นการต่อยอดขยายฐานกีฬามวยไทยไปทั่วโลก
อีกทั้งยังสนองนโยบายรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการผลักดัน “กีฬามวยไทย” ไปสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีนักมวยไทยเยาวชนจากทั่วโลกสมาชิกของ IFMA เข้าร่วมชิงชัยกว่า 100 ชาติ มีนักกีฬาประมาณ 2,000 คน และผู้เกี่ยวข้องอีก 1,500 คน ทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 3,500 คน ซึ่งคาดว่ารายการดังกล่าวจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย 500-1,000 ล้านบาท ในส่วนนักกีฬามวยไทยเยาวชนไทยส่งเข้าร่วมแข่งขัน 26 คน แบ่งเป็นชาย 13 คน หญิง 13 คน
ล่าสุด การแข่งขันมวยไทยเยาวชนสมัครเล่นชิงแชมเปี้ยนโลก ประจำปี 2567 “อิฟม่า ยูธ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพส์ 2024” เดินทางเข้าสู่การชิงชัยเป็นวันสุดท้าย มีคีย์แมนวงการมวยไทยเข้าร่วมพิธีปิดอย่างคับคั่งนำโดย นายสุทิน คลังแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA), นายสมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย, พล.ต.นิรินธน์ ปุณโณทก ผู้บัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง, ดร.สุปราณี คุปตาสา อดีตผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ฯลฯ
การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ มีทั้งหมด 57 รุ่น มีนักชกไทย ผ่านเข้ามาชิงชนะเลิศทั้งหมด 5 รุ่นด้วยกัน โดยที่ก่อนหน้านี้ทัพนักชกเยาวชนไทย คว้าไปแล้ว 4 เหรียญทอง, 5 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง
ไฮไลต์อยู่ที่ รุ่น 45 กก.หญิง อายุ 16-17 ปี “เสน่ห์งาม กำนันเชษฐ์เมืองชล” นิรชา ตังจิว แชมป์เยาวชนโลก 3 สมัย พบกับ ชายมา เอ็ตตาซิรี จากโมร็อกโก ตลอด 3 ยก นักชกไทย โชว์ฟอร์มเหนือกว่าชัดเจน แม้ว่านักชกสาวจากโมร็อกโก จะพยายามเดินหน้าลุย แต่ก็โดนสวนกลับหน้าหงายหลายครั้งจนต้องนับ 8 ตั้งแต่ยกแรก ก่อนที่ครบ 3 ยก กรรมการจะชูมือให้ นิรชา เอาชนะไปได้ 30-27 คว้าเหรียญทองและแชมป์สมัยที่ 4 ของตัวเองไปครอง
นิรชา กล่าวว่า พอใจกับผลงานอย่างมากหลังจากได้เก็บตัวมาค่อนข้างนาน รายการนี้ถือว่าเป็นรายการที่ทำผลงานออกมาได้ดีมากๆ ตั้งแต่ไฟต์แรกจนถึงไฟต์สุดท้าย แต่ก็ต้องยอมรับว่าคู่แข่งเองก็เก่งขึ้นมาเหมือนกัน ฉะนั้นก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาฝีมือตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ส่วนรายการต่อไปก็อยากจะมีชื่อไปแข่งขันในซีเกมส์ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า รวมถึงในอนาคตถ้ามวยไทยได้บรรจุในโอลิมปิกเกมส์ ก็อยากจะได้ไปแข่งขันด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ได้อีก 3 เหรียญทอง จาก รุ่น 45 กก.ชาย อายุ 14-15 ปี “เพชรโชกุน ร.ร.กีฬาขอนแก่น” ภัทรนันท์ พิกุลวิลัย ชนะคะแนน อาร์คาดี โบซารี จากมอลโดวา 29-28, รุ่น 48 กก.หญิง 16-17 ปี “ธิดาพลอย ศิษย์ผู้ใหญ่จุก” ธิดารัตน์ กันย์บุรี ชนะคะแนน นาซิเล มุตลู นักชกจากชาติเป็นกลาง 30-27 และรุ่น 48 กก.ชาย อายุ 16-17 ปี “ดีเซลเล็ก ส.ศรีทอง” ตัสนิม โคตรภักดี ชนะน็อกยกแรก ยุสซุฟ มุคตาสซิป จากคาซัคสถาน
ส่วนรุ่น 51 กก.ชาย อายุ 16-17 ปี “นำขบวน ร.ร.กีฬากรุงเทพ” สิทธินนท์ ดำเนียม แพ้ โยเซฟ ฮ็อบส์ จากสหรัฐฯ 27-30 คว้าเหรียญเงิน ปิดท้ายให้กับทัพนักชกไทย
สรุปผลงานนักชกไทย ส่งแข่งขันทั้งหมด 26 รุ่น คว้า 8 เหรียญทอง, 6 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง เป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 108 ชาติ โดยมี ยูเครน ครองอันดับ 1 คว้าไป 8 เหรียญทอง, 9 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง ส่วนอันดับ 3 คาซัคสถาน 7 เหรียญทอง, 7 เหรียญเงิน และ 16 เหรียญทองแดง
โดยทีมนักชกยูเครน ครองถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประเภททีมชาย และทีมมวยนักชกไทย ได้ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประเภททีมหญิง
หลังจบการแข่งขัน ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธาน IFMA กล่าวว่า ภาพรวมของการแข่งขันโดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานการจัดการแข่งขันนั้นถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ มีคนให้ความสำคัญกับการแข่งขันมากขึ้น มีประชาชนเดินทางเข้ามาชม ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีแต่นักกีฬาชมกันเอง และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ตนเดินไปไหนก็มีแต่คนเข้ามาทักอยากให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีก สำหรับผลงานนักกีฬาไทยที่คว้ามาได้ 8 ทองก็ถือว่าทำผลงานได้น่าพอใจ แม้จะไม่ได้ชนะทุกคนเพราะกีฬาก็มีแพ้-มีชนะอยู่แล้ว แต่นักกีฬาไทยพิสูจน์ให้เห็นว่าฝีไม้ลายมือของเราไม่ด้อยกว่าใครและยังแสดงให้เห็นถึงการเป็นต้นตำรับของมวยไทยได้เป็นอย่างดี
ประธาน IFMA กล่าวอีกว่า ส่วนนักกีฬาต่างชาติต้องบอกว่าพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะนักมวยจากชาติอาหรับที่เป็นฝ่ายหญิงต้องบอกว่าเก่งมากเลย ส่วนทางยุโรปก็จะมีหลายๆ ชาติที่พัฒนาขึ้นมาเช่น รัสเซีย ที่มาชกในฐานะนักกีฬาจากชาติเป็นกลาง, ยูเครน, คาซักสถาน หรือเบลารุส ที่ฝีมือไม่แพ้นักมวยไทยเลยแถมฟิตเนสก็ดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสหรัฐอเมริกาที่หลังจากมีสมาคมกีฬาในประเทศขึ้นมาก็ยกระดับขึ้นมา
“ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าทุกประเทศที่มีมาตรฐานสูงขึ้นเป็นเพราะประเทศไทยเองได้ส่งโค้ชหรือครูมวยฝีมือดี ส่งออกไปสอนให้กับต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกประเทศพัฒนาฝีมือขึ้นมา” ดร.ศักดิ์ชายกล่าว
ดร.ศักดิ์ชาย กล่าวเสริมว่า ในปีนี้นักกีฬาไทย ยังเหลือชิงแชมป์เอเชีย ที่ไต้หวัน จากนั้นในปี 2025 จะมีรายการสำคัญที่สุดอย่างซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ยังมีชิงแชมป์เยาวชนโลก ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และชิงแชมป์โลก ที่อิตาลี รวมถึงรายการอื่นๆ ที่มีการยื่นขอจัดการแข่งขันอยู่ ในส่วนของโอลิมปิกเกมส์ แม้ว่าเราจะได้รับการรับรองจากไอโอซี (คณะกรรมการโอลิมปิกสากล) แล้ว แต่ก็ต้องอยู่ที่ ไอโอซี จะเลือกมวยไทย บรรจุเมื่อไหร่ ซึ่งมันไม่ได้มีแค่มวยไทยที่รอบรรจุ แต่ยังมีอีก 15-16 ชนิดกีฬา ที่รอเช่นกัน ก็อยากฝากรัฐบาลให้ช่วยสนับสนุน ช่วยมาสนใจมวยไทยไปโอลิมปิกเกมส์ให้มากขึ้น เพราะถ้าไปได้ ไม่ใช่แค่ชื่อเสียง แต่ยังช่วยผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย