วันที่ 19 ก.ย. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายนพดล ธรรมวัฒนะ ในฐานะผู้จัดการมรดก นางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (เจ้ามรดก) และในฐานะได้รับมอบอำนาจจาก นางมัลลิการ์ หลีระพันธ์ ให้ยื่นฟ้อง นางนฤมล มังกรพานิชย์ และนางคนึงนิตย์ ธรรมวัฒนะ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในฐานความผิด เรียกให้โอนหุ้นคืนกองมรดก และขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนหุ้น จำนวนทุนทรัพย์ 258,000,100 บาท

คำฟ้องระบุว่า จำเลยที่ 1 กระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดในพินัยกรรม ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ให้ผู้ถือหุ้นโอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่นในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ของผู้ถือหุ้น แต่จำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนโดยการโอนหุ้นของตนให้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพราะไม่ได้เป็นทายาทในพินัยกรรม ซึ่งตามพินัยกรรมระบุไว้ว่า หากผู้ใดละเมิดข้อห้าม ให้หุ้นตกเป็นของผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่ละเมิดข้อห้าม โดยโอนตามส่วนเฉลี่ย เมื่อตีความตามพินัยกรรมเป็นการตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ตายว่า ประสงค์ที่จะมอบให้ทายาทที่แท้จริง คือลำดับที่ 1-9 แต่ต่อมา มีทายาท 2 คน ลำดับที่ 7 และลำดับที่ 9 ประพฤติตนไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนคำสั่งทำให้เจ้ามรดกเสียใจ เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมตัด มิให้รับมรดกอย่างชัดเจน อันแสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของ นางสุวพีร์ ซึ่งเป็นเจ้ามรดก ว่า เมื่อบุตรคนใดประพฤติตนไม่เหมาะสม หรือทำการฝ่าฝืนคำสั่ง ทำความผิดย่อมเสียสิทธิทั้งหมดในการรับมรดก

ทั้งนี้ โจทก์ทั้ง 2 ใช้สิทธิทางศาล เพื่อทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกรักษาทรัพย์ของบริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด เพื่อนำหนี้สินทั้งหมดกลับเข้ามาบริหารในบริษัท และเพื่อเป็นการปฏิบัติตามพินัยกรรม ในกรณีที่ทายาททำการฝ่าฝืนข้อกำหนดในพินัยกรรม ซึ่งโจทก์ทั้ง 2 มิได้มีผลได้ผลเสียในจำนวนหุ้นที่จะเรียกคืนหรือริบกลับมา

นายนพดล ธรรมวัฒนะ กล่าวว่า วันนี้ตนเองมาในฐานะผู้จัดการมรดก เพื่อยื่นฟ้อง นางนฤมล มังกรพานิชย์ หรือ ธรรมวัฒนะ ที่กระทำการละเมิดคำสั่งในพินัยกรรม ตนเองในฐานะของผู้จัดการมรดก ต้องเข้ามาดำเนินการให้เรียบร้อย ให้เป็นไปตามคำสั่งในพินัยกรรม ที่ระบุว่า ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่นางนฤมล ก็ยังกระทำการละเมิด โดยการโอนหุ้นให้กับ นางคนึงนิตย์  เหตุเกิดตั้งแต่ช่วงปี 2546 แต่เพิ่งจะมาทราบเรื่องเมื่อไม่นานมานี้ และได้มีการส่งหนังสือไปยัง นางนฤมลแล้ว แต่ก็ยังนิ่งเฉย โดยสาเหตุที่ทราบเรื่องนี้ เพราะนางคนึงนิตย์ ต้องการโอนหุ้นให้กับตนเอง จึงไปทำการตรวจสอบ พบว่ามีการกระทำละเมิดคำสั่งของพินัยกรรม ตามขั้นตอน ก็ต้องมาฟ้องศาล เพื่อขอให้นางนฤมล ส่งมอบคืนหุ้นทั้งหมด คืนสู่กองมรดก เพื่อจะได้นำไปเฉลี่ยให้กับทายาทที่ไม่ได้กระทำการละเมิดในพินัยกรรม

อย่างไรก็ตาม ศาลแพ่งนัดชี้สองสถาน ในวันที่ 25 พ.ย. 2567 เวลา 09.00 น.