เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถาม นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ถาม รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำใน จ.เพชรบูรณ์ ว่า ยังมีประสิทธิภาพที่ยังไม่ดีพอที่จะรองรับต่อการใช้งานได้อย่างทั่วถึงในอีกหลาย ๆ พื้นที่ของจังหวัด รวมถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำ นับเป็นสิ่งที่เร่งด่วนและสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงอยากทราบว่า รัฐบาลจะมีแผนบริหารจัดการน้ำรวมถึงแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการบรรเทาอุทกภัยและบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร รวมถึงความก้าวหน้า “โครงการฝายยางบ้านท่า” อ.ศรีเทพ อยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว

นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากนางฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้มาตอบกระทู้แทนว่า รัฐบาลได้เตรียมแผนการรองรับภาวะโลกร้อนที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ช่วงหน้าแล้งก็ประสบปัญหาน้ำไม่พอใช้ ช่วงหน้าฝนก็มีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนสะสมทำให้เกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ ทุกครั้งที่ได้มีการหารือร่วมกับนางนฤมล รมว.เกษตรและสหกรณ์ ท่านได้มอบนโยบายให้ทุกกลุ่มของทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ได้เห็นความสำคัญและร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ทั้งภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก

นายอัครา ชี้แจงต่อว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานมีแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทั้งหมด 7.7 ล้านไร่ ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,140 มิลลิเมตรต่อปี ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 4,241 ล้านลบ.ม.ต่อปี ซึ่ง จ.เพชรบูรณ์ มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่ไหลจากทางตอนเหนือสู่ตอนใต้ รวมความยาว 350 กิโลเมตร และยังรวมถึงลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก โดยปัจจุบันกรมชลประทาน ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่สามารถเก็บกักปริมาณน้ำไว้ให้ประชาชน จ.เพชรบูรณ์ และจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียงได้ใช้ปริมาณทั้งสิ้น 251.41 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของปริมาณน้ำท่าใน จ.เพชรบูรณ์ ทั้งนี้โครงการที่กรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วมีจำนวนทั้งหมด 14 โครงการ ได้เก็บกักปริมาณน้ำไว้ให้พี่น้องประชาชนไว้ใช้ทั้งหมด 251.4 ล้าน ลบ.ม. และประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 214,037 ไร่ ส่วนที่กรมชลประทานอยู่ระหว่างการดำเนินการมีทั้งสิน 9 โครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ทั้งหมด 7.97 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ประชาชนใน จ.เพชรบูรณ์ ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น 89,000 ไร่

นายอัครา ยังกล่าวต่อถึงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ กรมชลประทานมีแผงงานโครงการแก้ไขปัญหาอุทักภัยและภัยแล้ง ทั้งสิ้น 40 โครงการ แยกเป็นโครงการที่เกี่ยวกับอ่างเก็บน้ำ 26 แห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำบ้านปากช่อง ฝายจำนวน 1 แห่ง ระบบส่งน้ำจำนวน 4 แห่ง และโครงการเพิ่มศักยภาพจำนวน 9 แห่ง สำหรับ 40 โครงการนี้ ดำเนินการไป 10 โครงการเก็บกักน้ำได้ทั้งสิ้น 524.57 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ 299,424 ไร่ และเมื่อรวมโครงการดำเนินการทั้งหมดแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีปริมาณเก็บกักน้ำทั้งสิ้น 783.95 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 602,461 ไร่

นอกจากนี้ ยังมียังแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองหล่มสัก เพื่อบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน จะเป็นแผนงานผ่านน้ำเลี่ยงเมืองเทศบาลเมืองหล่มสัก ระยะทางทั้งสิ้น 30 กิโลเมตร ถ้าดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถระบายน้ำได้ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งโครงการนี้อยู่ในแผนการศึกษาในปี 2569

รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ส่วนแผนการดำเนินงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองมีทั้งหมด 3 โครงการ คือ 1.โครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตาลเดี่ยว ระยะที่หนึ่งโครงการนี้อยู่ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ งบประมาณที่ขอทั้งสิ้น 193,369,800 บาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 850 วัน ปัจจุบันผลการดำเนินงานแผนงานสำเร็จลุล่วงไป ร้อยละ  64.07 และผลงาน ร้อยละ 65.98 2.โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตาลเดี่ยวระยะที่สอง อยู่ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ งบประมาณที่ขอ 266,849,000 บาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการทำการทั้งสิ้น 900 วัน แผนงานทั้งสิ้น ร้อยละ 8.17 และผลงาน ร้อยละ 22.11 และ 3.โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนหล่มเก่า ระยะที่หนึ่ง อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ของบประมาณทั้งสิ้น 217,659,000 บาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 185 วัน ผลการดำเนินงานแผนงาน ร้อยละ 7.79 และผลงาน ร้อยละ 4.59

รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ถามถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในส่วนของการประปา ดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 9 แผนงาน คือการปรับปรุงระบบผลิต และระบบกระจายน้ำประปาประกอบไปด้วย โครงการที่ขอสนับสนุนงบประมาณทั้งสิ้น 1,008 ล้านบาท เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2569 ซึ่งหลังจากที่โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จะทำให้เรามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 1,570 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด 14,900 ครัวเรือน และจะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับผลประโยชน์ครอบคลุมไปถึง 3 อำเภอ คือ อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.หล่มสัก และ อ.หนองไผ่

นายอัครา กล่าวต่อถึงการสร้างฝายในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตอนนี้มี 2 โครงการ คือ 1.ฝายยางบ้านท่า อ.ศรีเทพ ดำเนินการในปี 2568 ถึง 2570 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 483 ล้าน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 โครงการนี้เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยพื้นที่เก็บปริมาณน้ำและแจกจ่ายน้ำไปสู่พี่น้องประชาชนได้ทั้งสิ้นประมาณ 8,000 ไร่ 2.ฝายยางบ้านพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินการในปี 2566 ถึง 2568 วงเงินงบประมาณ 381 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินงานไปแล้วประมาณร้อยละ 80 โครงการนี้เมื่อดำเนินการเสร็จ สามารถช่วยฟื้นฟูเรื่องปัญหาน้ำ และช่วยให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่สามารถใช้น้ำเพาะปลูกและอุปโภค บริโภคด้วย.