จากกรณีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง หรือไตรภาคี) เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา องค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุม 10 จาก 15 คน โดยพบว่า 5 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว เป็นสัดส่วนนายจ้างทั้งหมด จึงไม่สามารถพิจารณาวาระการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ (ครั้งที่ 3 ของปี 2567) ในอัตรา 400 บาทได้ ทำให้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานฯ ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 82 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 นัดประชุมใหม่ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ขณะนี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า การประชุมคณะกรรมการไตรภาคีในวันที่ 20 ก.ย.นั้น จะมีการพิจารณาและลงมติเกี่ยวกับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ใครไม่มาประชุมก็ถือว่าสละสิทธิ์ในการลงมติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 82

ล่าสุด วันที่ 19 ก.ย.  นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า หลังการประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา และมีการนัดหมายประชุมใหม่ในวันที่ 20 ก.ย.นั้น ทางฝ่ายนายจ้างเราไม่ได้มีการพูดคุยอะไรกัน ต่างคนต่างยุ่ง แต่ส่วนตัวแล้ว ทางฝ่ายเลขาไตรภาคี ได้มีการนัดหมายมา ตนสามารถเคลียร์งานและสามารถร่วมประชุมในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ได้ ส่วนนายจ้างคนอื่นๆ หลายคนน่าจะไปได้ ไม่รู้มีใครติดภารกิจอะไรหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ยืนยันว่าที่ไปร่วมประชุมไม่ใช่เพราะถูกขู่ว่าเสียสิทธิแต่อย่างใด

เมื่อถามว่า ในการประชุมต้องมีการพูดคุย สะท้อนความเห็นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ กับการขีดเส้นไว้แล้วว่า ต้องเพิ่ม 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค. 2567 นายอรรถยุทธ กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำทุกครั้งจะเริ่มจากอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด พิจารณาและมีมติส่งมาที่อนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้าง ส่วนกลาง ซึ่งจะรวบรวมทั้งประเทศมาตรวจว่าถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ อาจจะมีการปรับนิดหน่อยและส่งเข้าคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อพิจารณาต่อว่า 1.จะปรับหรือไม่ปรับในครั้งต่อไป หากไม่ปรับก็ปิดประชุม หากมีภาวะอะไรก็ค่อยมาพูดกันใหม่ หรือหากเห็นว่าควรปรับ ก็จะไปที่ข้อ 2. จะปรับอย่างไร บางจังหวัดอาจจะปรับได้ไม่เท่ากัน เพราะเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดต่างกัน เงินเฟ้อต่างกันฯ ไตรภาคีก็จะมาพิจารณาว่าที่ไหน ปรับเท่าไหร่ จนครบ 77 จังหวัด และ 3. จะให้มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่

นายอรรถยุทธ กล่าวอีกว่า แต่ในการประชุมวันที่ 20 ก.ย.นี้ จะไม่เหมือนปกติ เพราะองค์ประชุมมากึ่งหนึ่งก็นับเป็นองค์ประชุมแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาครบ จะไม่มาก็ได้ แล้วเอามติ 2 ใน 3 ของกรรมการที่อยู่ในห้องประชุมเป็นมติ และนำเข้าครม.เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาได้เลย ที่เป็นแบบนี้เพราะมาตรา 82 กำหนดไว้ว่า ถ้าการประชุมคราวใดไม่มีนายจ้าง หรือลูกจ้างมาประชุม สามารถเรียกประชุมครั้งต่อไปได้ใน 15 วัน และมีมติอย่างที่ว่า เพราะฉะนั้นในการประชุมวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำไมไม่มีนายจ้างเข้าร่วมประชุม ซึ่งยืนยันว่านายจ้างไม่ได้เทการประชุม แต่ข้อเท็จจริงคือ การประชุมกรรมการค่าจ้างที่ผ่านมาเป็นสิบๆ ปี จะมีตารางการประชุม เหมือนคณะรัฐมนตรีมีการประชุมทุกวันอังคาร ตอนเช้า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่อยู่ รองนายกฯ ก็นั่งแทน กรรมการค่าจ้างก็เช่นกัน เมื่อมีการประชุมทุกเช้าวันพุธที่ 2 ของเดือน พุธไหนประธานไม่ว่าง ก็สามารถให้รองปลัดเข้าแทนได้ ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานหลายคนที่ผ่านๆ มาก็ทำเช่นนั้น แต่ถ้านัดไหน ปลัดฯ อยากเข้าเองจริงๆ แต่ไม่ว่าง ก็จะขอเลื่อน โดยฝ่ายเลขาฯ จะดูว่าทั้ง 3 ฝ่ายสะดวกตรงกัน อาจจะไม่ครบทั้ง 15 คน แต่อย่างน้อยก็ต้องมี 12-13 คน ทั้ง 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูงจ้างอย่างน้อยๆ ก็ต้องมี 2-3 คน ซึ่งปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด การประชุมก็เกิดขึ้นได้

“ในวันที่ 16 ก.ย.เราไม่ว่าง และไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ ปลัดฯ เขาก็รู้ เพราะเมื่อวันที่ 9 ก.ย. มีการประชุมอนุฯ กลั่นกรอง และเราก็บอกฝ่ายเลขาฯ ไปแล้วว่า จะนัดวันที่ 16 ก.ย.เลยหรือ ซึ่งวันนั้นหนังสือไม่ออก เพราะนายจ้าง 3 คนในที่ประชุมไม่ว่าง เขาก็โทรฯ ไปเช็กอีก 2 คน ก็ไม่ว่างวันที่ 16 ก.ย.เหมือนกัน จะว่างราวๆ วันที่ 23, 24, 30 ก.ย. แต่เขาไม่เลือกวันเหล่านี้ ทั้งที่สามารถทำให้การประชุมเกิดขึ้นได้ แต่เลือกวันที่ 16 ก.ย. ซึ่งไม่สามารถทำให้การประชุมเกิดขึ้นได้ เลยไม่รู้ว่า มันเป็นการเล่นเกมอะไรหรือเปล่า เพื่อจะให้เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ขึ้น เพื่อที่จะใช้คนน้อยๆ ในการประชุมหรือเปล่า อันนี้เป็นที่น่าผิดหวังมากว่า คุณไม่ทำตามในสิ่งที่เคยทำ ดังนั้นยืนยันว่านายจ้างไม่ได้เท แต่เหตุการณ์มันเป็นเช่นนี้” นายอรรถยุทธ กล่าว และว่า ตนไม่อยากพูดตัวเลขว่าเท่านั้น เท่านี้ และไม่เคยพูด ไม่เคยบอกล่วงหน้าว่า ค่าจ้างจะเป็นเท่าไหร่ การจะเพิ่มเท่าไหร่ต้องรู้ในห้องประชุมเท่านั้น ประชุมเสร็จถึงทราบ ตนมีมารยาทพอที่จะไม่พูดล่วงหน้า  

เมื่อถามว่า ช่วงนี้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม ผู้ได้รับผลกระทบมีทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง การปรับค่าจ้างรอบนี้จะไหวกันหรือไม่  นายอรรถยุทธ กล่าวว่า ไม่มีทางไหว อุทกภัยก็หนัก ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกัน แต่จะมองเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ ที่ประชุมจะมองเรื่องนี้อย่างไรตนไม่ทราบ คงไม่มีการหยิบมาคุย แต่ตนก็ไม่ทราบอีกนั่นแหละว่าประธานจะหยิบอะไรมาคุยบ้าง.