เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีพิธีลงนามสัญญาว่าจ้างนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่า รฟท. คนใหม่ คนที่ 20 อย่างเป็นทางการ โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เป็นผู้ลงนามสัญญาว่าจ้าง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 4 ปี  

นายวีริศ กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่จะใช้ตำแหน่งผู้ว่า รฟท. ช่วยพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งตนพร้อมทำงานเต็มที่ แต่ด้วยความที่เป็นคนที่มาจากหน่วยงานข้างนอก และเข้ามาคนเดียว คงไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้เพียงคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของ รฟท. ทุกคน ในการทำงานร่วมกัน งานแรกหลังจากนี้จะพูดคุย และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในทุกเรื่องๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น โดยขอเวลาอีก 20-30 วัน หรือภายในเดือน ต.ค. 67 จะมีการแถลงนโยบาย และแนวทางการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม

นายวีริศ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นมีเป้าหมายจะช่วยแก้ปัญหาภาระหนี้ของ รฟท. ที่มีอยู่ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท รวมทั้งต้องหาแนวทางในการเพิ่มรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของหนี้สิน ต้องแยกให้ชัดเจนว่าหนี้จริงๆ ของ รฟท. มีเท่าใด เพราะหนี้ 2.3 แสนล้านบาท เป็นหนี้ภาระผูกพันที่เกิดจากการให้บริการเดินรถเชิงสังคม ที่ต้องขอรับเงินอุดหนุนบริการเชิงสังคม (PSO) ด้วย เมื่อแยกออกมาชัดเจนแล้ว จะได้หาแนวทางว่าจะเจรจาประนอมหนี้อย่างไรได้บ้าง ส่วนการเพิ่มรายได้ ต้องนำที่ดินของ รฟท. ที่มีอยู่จำนวนมากมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต้องดูว่ายังติดขัดปัญหาอะไรที่ทำให้เดินหน้าสร้างรายได้ไม่ได้ ขณะเดียวกันต้องเปิดให้เอกชนเช่าใช้ราง เพื่อขนส่งสินค้า ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้ รฟท. เพิ่มแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้วย โดยต้องศึกษาแนวทางต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

นายวีริศ กล่าวอีกว่า แนวทางมีหลายรูปแบบอาจเป็นเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือต้องรอให้ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ของกรมการขนส่งทางราง (ขบ.) มีผลบังคับใช้ก่อน หรือหากเป็นหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ จะใช้วิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) หรือตั้งบริษัทลูกได้หรือไม่ แนวทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ทั้งหมด นอกจากนี้ จะเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาในทุกเรื่อง โดยเฉพาะการก่อสร้าง และการผลักดันโครงการต่างๆ ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการรถไฟทางคู่, ส่วนต่อขยายรถไฟระบบชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) รวมถึงโครงการจัดหาขบวนรถโดยสารใหม่ และรถไฟ KIHA ที่รับบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีประเด็นจอดไว้อยู่ที่แหลมฉบัง โดยตนจะเข้าไปดูด้วยว่า ติดขัดเรื่องใด และเร่งแก้ปัญหา เพื่อให้นำรถมาปรับปรุงและให้บริการประชาชนได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ จะเข้าไปดูโครงการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง เพื่อจัดหาเอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากปล่อยทิ้งไว้นาน ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีการศักยภาพในการรองรับตู้คอนเทเนอร์ และเชื่อมกับระบบราง ทั้งนี้ไม่รู้สึกหนักใจกับการเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่า รฟท. ถือเป็นความท้าทาย ซึ่งยินดีรับปัญหา แม้จะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ตนตั้งมั่นตั้งใจจะนำพาให้ รฟท. เดินหน้าไปข้างหน้า สามารถผงกหัวขึ้นให้ได้ ถ้าไม่เริ่มเวลานี้ องค์กรจะถอยไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลายคนตั้งคำถามว่า มาดำรงตำแหน่งนี้เนื่องจากเป็นคนสนิทของนายสุริยะหรือไม่ นายวีริศ กล่าวว่า ตนตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติมาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน และมีประสบการณ์การทำงานผ่านมาหลายองค์กร ซึ่งตำแหน่งผู้ว่า รฟท. เป็นจังหวะโอกาสหนึ่งที่เห็นว่าทำหน้าที่ได้ และตนก็เข้ามาตามกระบวนการอย่างถูกต้อง

สำหรับประวัตินายวีริศ เกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 18 ปัจจุบันอายุ 49 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาระดับปริญญาโท Operations Research มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาเอก Industrial and Systems Engineering มหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส สหรัฐอเมริกา สาขาความเชี่ยวชาญด้านระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems) ด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ด้านระบบการจัดการภาคการผลิตและการขนส่ง (Production and Logistics Management) และด้านการบริหารระบบซ่อมบำรุง (Maintenance Management)

ประวัติการทำงานที่ผ่านมา ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (ด้านการพาณิชย์) ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (ด้านวิชาการ) คณะกรรมการจราจรขนส่งแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม อาจารย์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยการคมนาคม สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย.