สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ว่าดร.เบอร์กิต เกอเก หัวหน้าคณะผู้วิจัยจาก มูลนิธิบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากเมืองซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า สารเคมีซึ่งพบในบรรจุภัณฑ์ราว 100 ชนิด ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง แม้จะมีผลการวิจัยด้านความปลอดภัยอย่างดี

ดร.เกอเก อธิบายว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าสารเคมีชนิดอื่นจะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ และเธอขอเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมว่า สารเคมีที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ เข้าไปในร่างกายมนุษย์พร้อมกับอาหารได้อย่างไร

นักวิจัยจัดทำรายการสารเคมีที่สัมผัสอาหาร (เอฟซีซีเอส) ไว้ประมาณ 14,000 รายการ ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าไปในอาหารได้จากบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะ หรือวัสดุอื่น ๆ ขณะเดียวกัน สารเคมีเหล่านี้ก็อาจมาจากส่วนอื่น ๆ ของกระบวนการผลิตอาหาร เช่น สายพานลำเลียง หรือภาชนะในครัว

ก่อนการศึกษา ทีมงานของดร.เกอเกคาดว่า อาจพบสารประมาณไม่กี่พันรายการ แต่กลับต้องประหลาดใจ เมื่อพบมากถึง 3,601 รายการ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของสารทั้งหมด

สารเคมีที่น่ากังวลมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ‘พีเอฟเอเอส’ หรือสารเคมีตลอดกาล ซึ่งตรวจพบในหลายส่วนของร่างกายมนุษย์ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพมากมาย ‘บิสฟีนอล เอ’ สารมีฤทธิ์รบกวนฮอร์โมน ซึ่งมักใช้ในการผลิตพลาสติก และถูกห้ามใช้ในขวดนมเด็กในหลายประเทศ ‘พาทาเลต’ ซึ่งเชื่อมโยงกับภาวะมีบุตรยาก และ ‘โอลิโกเมอร์’ ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการผลิตพลาสติก มีลักษณะคล้ายโพลีเมอร์

ดร.เกอเกยอมรับว่า ข้อจำกัดของการศึกษาชิ้นนี้คือ การที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า สารเคมีชนิดใดมีความเข้มข้นสูงเป็นพิเศษ และสารเหล่านี้อาจทำปฏิกิริยากันเองได้ เหมือนกับการพีเอฟเอเอสที่มีความแตกต่างกันถึง 30 ชนิด ทั้งนี้ เธอแนะนำให้ผู้คนลดการสัมผัสกับบรรจุภัณฑ์ และหลีกเลี่ยงการอุ่นอาหารทั้งบรรจุภัณฑ์

ดร.ดูเอน เมลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอาหาร กล่าวว่า ผลงานนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงปริมาณสารเคมีที่เราสัมผัส เนื่องจากยังมีแหล่งสารเคมีในสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อีก เขาแนะนำว่า ผู้คนต้องการข้อมูลที่มากขึ้น และตอนนี้ให้ลดการสัมผัสสารเคมีที่ไม่จำเป็น 

ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ของการห้ามใช้สารเคมีตลอดกาลในบรรจุภัณฑ์อาหาร และกำลังพิจารณาข้อเสนอ ห้ามใช้บิสฟีนอล เอ ในลักษณะเดียวกันตั้งแต่สิ้นปีนี้.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES