เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 1/2567 ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ ได้แก่ 1.ติดตามประมวลข้อมูลสถานการณ์และธุรการในการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม จนเกิดอุทกภัย เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว 2.บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการคาดการณ์วิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อการแจ้งเตือน สร้างการรับรู้ 3.ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนผู้ประสบภัย รวมถึงการวางแผนการเคลื่อนย้าย การจัดเตรียมที่พักอาศัย และการจัดส่งอาหารเครื่องมืออุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า 4.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกันเป็นแม่ข่ายดำเนินการ และให้ปรับผังรายการประชาสัมพันธ์ มาเน้นการแจ้งใช้ข้อมูลสถานการณ์น้ำเป็นเรื่องหลัก และการช่วยเหลือประชาชนในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อป้องกันดราม่าต่างๆ 5.เชิญหน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมปรึกษาหารือแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามความเหมาะสม และ 6. ต้องรายงานผลให้ศปช.ทราบเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ คาดว่าพายุและฝนตกที่จะเข้าในภาคเหนือและภาคอีสาน น่าจะจบลงภายในกลางเดือน ต.ค. นี้ ขณะที่ในภาคกลางจะค่อยๆ ลดลงเช่นกัน แต่จะเกิดเหตุพายุและฝนตกในภาคใต้ในช่วงเดือน ต.ค. ดังนั้น ศปช. จะดำเนินการบริหารจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ โดย ศปช. จะตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และจะใช้หมายเลขโทรศัพท์สายด่วนรัฐบาล 1111 เป็นหมายเลขโทรศัพท์รับแจ้งเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย

นายภูมิธรรม กล่าวว่า จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา อนุมัติการจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง 3,045 ล้านบาท สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเยียวยาประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการได้ทันที และต้องพยายามไม่ให้มีขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุด คือการทำให้ประชาชนได้รับการดูแลเยียวยาเร็วที่สุด ทั้งนี้ เราได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเยียวยา และศึกษารูปแบบการเยียวยา รวมถึงการกำหนดจำนวนปริมาณ จะสามารถจบได้ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบต่อไป

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเตือนภัยล่วงหน้า ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA., ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการตรวจสอบทิศทางลมมรสุมที่จะเข้าสู่ประเทศไทย ที่สามารถมองเห็นตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่เขตประเทศเมียนมาและจีน อีกทั้งให้มีการประสานงานกับบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือต่างๆ มาร่วม เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยเป็นไปอย่างทันท่วงที