เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระหว่าง กระทรวง อว. และสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมี ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ รองปลัดกระทรวง อว. และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามฯ ณ ห้องนนทบุรี 1 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี

นายเพิ่มสุข กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยจะกระชับความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. และ ป.ป.ช. ในทุกด้าน โดย กระทรวง อว. ได้มุ่งเน้นการบริหารงานตามหลักคุณธรรม สนับสนุนคนดี ให้ทุกหน่วยงานเข้าถึงได้ง่าย สร้างทางเลือกสร้างโอกาสแก่ประชาชน สนับสนุนเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ ภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ กระทรวง อว. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2555-2570) สำคัญ ได้แก่ (1) การสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์ สุจริต มุ่งเน้นการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน และการบริหารงานให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ การขยายผลนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ในหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา และการพัฒนาผลการประเมิน ITA เพื่อเชื่อมโยงกับแนวทางการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทย (CPI) (2) การพัฒนาระบบและกลไกการป้องกันการทุจริตเชิงรุก มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการให้บริการ เพื่อลดการใช้ดุลพินิจ ที่จะนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบในหน้าที่ รวมทั้งขยายผลให้หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา ขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรม ภายใต้แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกองทุน ป.ป.ช. ตลอดจนพัฒนากลไกการประสานงาน และการบูรณาการความร่วมมือด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตของกระทรวง อว. ให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ (3) การพัฒนากระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนทุจริต ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ แก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ตลอดจนการพัฒนาระบบจัดการเรื่องร้องเรียนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเชื่อมโยงกับระบบและฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายเพิ่มสุข กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กระทรวง อว. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานสำคัญร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ดังนี้ (1) ยกระดับและพัฒนาผลการประเมิน ITA ของหน่วยงานในสังกัด 17 แห่ง และหน่วยงานภาครัฐประเภทสถาบันอุดมศึกษา 87 แห่ง ผ่านการจัดโครงการและกิจกรรมสำคัญ จำนวนทั้งสิ้น 7 ครั้ง ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงเกณฑ์การประเมิน ITA, กิจกรรมให้คำปรึกษา หรือ University ITA Clinic และกิจกรรมถอดบทเรียน ITA โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งทาง Online และ Onsite รวมทั้งสิ้นกว่า 1,500 คน โดยดำเนินงานร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. จัดตั้งกลไก/เครือข่ายการประเมิน ITA ประเภทสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเป็นช่องทางในการประสานความร่วมมือ ให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในกระบวนการต่าง ๆ ของการประเมิน ITA ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (2) พัฒนาเครือข่าย/องค์กรพอเพียงต้านทุจริตของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาหรือ “STRONG MHESI” เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการสร้างกลไกในการบูรณาการงานด้านการป้องกันการทุจริตของกระทรวง อว. และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมถึงสร้างเครือข่ายเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบและแจ้งเบาะแสการทุจริต ตลอดจนพัฒนาและปรับพฤติกรรมของบุคลากรให้มีจิตสำนึกและยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ผ่านหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมที่เหมาะสม (3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา ขยายผลโครงการ/กิจกรรม ภายใต้แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (4) ส่งเสริมสนับสนุนให้สำนักงาน ป.ป.ช. ขยายผลหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาในสถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา ด้วยการเป็นกลไกกลางในการประสานความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำรายวิชาต้านทุจริตศึกษาเข้าบรรจุในระบบ Thai MOOC หรือแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพื่อเพิ่มช่องทางการเรียนรู้และขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังบุคลากร เจ้าหน้าที่ เยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้เข้าถึงหลักสูตรได้ทุกที่ทุกเวลา และเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning นอกจากนี้ อว. ยังได้พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ และระบบติดตามการขอตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการ มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ สามารถเชื่อมต่อและส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต

“ผมมั่นใจว่า หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ล้วนมีศักยภาพและองค์ความรู้ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงนี้ให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และเป้าหมายในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ในทุกมิติ” นายเพิ่มสุข กล่าว