เมื่อวันที่ 18 ก.ย. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตนได้ย้ำถึงนโยบายเรียนดีมีความสุขที่จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ภายหลังที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาไปแล้ว โดยขอให้ผู้บริหารศธ.ทุกคนได้นำนโยบายด้านการศึกษาต่างๆ ของตนไปจัดทำแผน Action Plane หรือแผนการปฏิบัติการการทำงานที่ได้วางไว้ 4 ปี ซึ่งหลังจากที่ตนดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการ ครบ 1 ปีถือว่ามีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาไปแล้ว ดังนั้นจะเหลือระยะเวลาในการขับเคลื่อนแผนงานด้านต่างๆ อีก 3 ปี ซึ่งขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดศธ.ได้เร่งดำเนินการนโยบายให้เกิดขึ้นสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมด้วย โดยเฉพาะการลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง รวมถึงการสร้างการศึกษาเพื่อความเท่าเทียม และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหายว่ามีอยู่จำนวนเท่าไหร่บ้าง เพราะในพื้นที่ภาคเหนือมีสถานศึกษาได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะปัญหาบูรณะซ่อมแซมหลังน้ำลดจากดินโคลนที่หนาแน่นจนสร้างความเสียหาย รวมถึงให้มีการสำรวจเสื้อผ้าชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอนด้วย ซึ่งที่ประชุมได้สรุปตัวเลขข้อมูลพบว่า มีสถานศึกษาและหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ รวม 544 แห่ง โดยเบื้องต้นศธ.ได้เสนองบประมาณกลางสำหรับช่วยเหลือสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ในวงเงิน 200 ล้านบาท ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ศูนย์อาชีวอาสาช่วยเหลือประชาชน หรือ Fix It Center ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดอุทกภัย ตนสั่งการให้สอศ.เตรียมศูนย์ Fix It Center ช่วยเหลือไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ ศูนย์ Fix It Center จะเข้าไปตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย 20 แห่งด้วย

“ในการประชุมดังกล่าวผมได้ติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณของศธ.ปี 2567 ซึ่งถือว่าเป็นการเบิกจ่ายงบได้ตามเป้าหมายและเป็นการใช้งบประมาณได้อย่างดีเยี่ยมเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานราชการ ส่วนงบในปีงบประมาณ 2568 ผมได้ย้ำว่าขอให้มีการวางแผนการเบิกจ่ายให้ดีและครอบคลุมทุกแผนงานและโครงการ เพื่อที่เวลามีงบเหลือจ่ายเกิดขึ้นจะได้วางแผนได้ทันว่า มีโครงการหรือกิจกรรมใดบ้างที่จำเป็นเร่งด่วน” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว